น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ 20 ต.ค.65 กลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 38.40 บาทต่อดอลลาร์ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 16 ปีครั้งใหม่ นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2549 ที่ 38.46 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 38.20 บาทต่อดอลลาร์

โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับเงินเยน เงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ท่ามกลางแรงหนุนที่แข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ จากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ โดยบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐ ขยับขึ้นเหนือระดับ 4.10% ไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี เมื่อคืนที่ผ่านมา

ขณะที่ตลาดทยอยเพิ่มน้ำหนักให้กับโอกาสความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 5 ในการประชุมเดือน ธ.ค. ต่อเนื่องจากที่น่าจะปรับขึ้น 0.75% ในการประชุมเดือน พ.ย. นี้ นอกจากนี้สัญญาณขายสุทธิพันธบัตรต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 38.20-38.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ทิศทางฟันด์โฟลว์ สกุลเงินในภูมิภาค ผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย และการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.ย. ผลสำรวจภาคการผลิตเดือน ต.ค. ของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในวันนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) โดยตลาดประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.3 แสนราย ซึ่งยังเป็นระดับที่สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐ ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ (แต่หากยอดดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จนแตะระดับ 4 แสนราย ขึ้นไป จะสะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น)

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังเริ่มมีเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับที่อาจสูงกว่าคาดการณ์ดอกเบี้ยหรือ Dot Plot ล่าสุด ส่วนรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยังคงอยู่ในความสนใจของตลาดและอาจช่วยพยุงไม่ให้ตลาดปรับตัวลงแรงได้ หากรายงานผลประกอบการโดยรวมออกมาดีกว่าคาด

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า ภาพตลาดที่กลับมากังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง จนอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญก่อนหน้าที่ระดับ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ได้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% ต่อเนื่อง ก็อาจยิ่งกดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยเผชิญแรงเทขายจากบรรดานักลงทุนต่างชาติมากขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงไหลออกจากตลาดบอนด์ ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทในช่วงนี้ (ยอดขายบอนด์สุทธิกว่า 1 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์)

“การปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ก็อาจทำให้เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้เช่นกัน ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทอาจยังคงอยู่โซน 38.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวอาจเห็นบรรดาผู้ส่งออกมาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนผู้เล่นในตลาดโดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติที่มีสถานะ short เงินบาทก็อาจทยอยขายทำกำไรสถานะ short เงินบาทในโซนดังกล่าวได้เช่นกัน”