เมื่อวันที่ 20 ต.ค. เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กรรมการ(บอร์ด) กสทช. ได้ประชุมนัดพิเศษ พิจารณาลงมติกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) หรือดีแทค โดยเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 09.45 น. ซึ่งมีการถกกันยาวตั้งแต่เรื่องอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการลงมติ 3 ต่อ 2  ว่าไม่มีอำนาจ เป็นเพียงแค่รับทราบตามประกาศปี 61

บอร์ดกสทช. ถกยาว 6 ชั่วโมง บิ๊กดีล “ทรู-ดีแทค ”ยังไม่จบ

ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการพักรับประทาน อาหาร ในช่วงบ่ายสองโมง และกลับมาประชุมต่อถึงมาตราการเงื่อนไขที่จะออกมาบังคับตามอำนาจของกสทช. เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตฯโทรคมนาคม ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่า 14 ข้อที่เป็นข่าว หลังจากนั้นในช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. การประชุมเสร็จสิ้น บอร์ด กสทช. และ ได้ออกแถลงการณ์ในเวลา 20.50 น. กสทช. มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวม ทรู – ดีแทค พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม

โดยที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กสทช. และ กสทช. ต่อพงศ์ฯ) มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 (ประกาศฉบับปี 2549)

โดยนัยของผลตามข้อ  9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศฉบับปี 2561) และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561  โดยรับทราบการรวมธุรกิจและเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561

ส่วนที่ประชุมเสียงข้างน้อย (กสทช. รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภัชฯ และ  กสทช. ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรองฯ มีมติเห็นว่ากรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันและให้พิจารณาดำเนินการพิจารณาตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดย กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าว

ขณะที่ กสทช. พลอากาศโท ดร. ธนพันธุ์ฯ ของดออกเสียง เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจนจึงของดออกเสียง โดยจะขอทำบันทึกในภายหลัง

เนื่องจากการลงมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น ประธานที่ประชุมได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด กลายเป็นมติ 3 ต่อ 2 มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวม ทรู – ดีแทค พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม

ขณะเดียวกันนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วยเช่นกัน โดยนายธนาธร กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อติดตามการลงมติของ บอร์ด กสทช. ซึ่งมีจุดยืนที่ไม่เห็นด้วย ในการควบรวม เพราะจะทำให้ผู้ให้บริการรายใหญ่ เหลือ 2 ราย ค่าบริการจะแพงขึ้น การแข่งขันลดลง ไม่เป็นผลดีต่อประชาชนผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยคณะก้าวหน้า และ พรรคก้าวไกล พร้อมยืนเคียงข้างประชาชน ซึ่งงานวิจัยทั้งต่างประเทศและ กสทช. ชี้ให้เห็นว่า ราคามีแนวโน้มแพงขึ้นคุณภาพต่ำลง มีโอกาสที่ทำให้เงินในกระเป๋าประชาชนลดลง ทุกวันนี้คนใช้ดาต้า หรืออินเทอร์เน็ตมากขึ้น ย่อมเป็นภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น และการเข้าถึงโอกาส เกิดความเหลื่อมล้ำ ทางออกเรื่องนี้ คือให้ รัฐบาลเดินทางออกไปหาผู้ซื้อรายใหม่จากทั่วโลกแทนเทเลนอร์ที่อาจถอนตัวออกไปซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้ อย่างไรก็ตามหากมีการผู้ลงมติให้ควบรวมจนส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ก็จะมีการฟ้อง กสทช. ในมาตรา 157 ต่อไป