แม้ปีนี้ไทยเริ่มผ่านพ้นจากวิกฤติโควิด-19 และสถานการณ์คุมเข้มต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายลง อีกทั้งมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นหนึ่งในท่อน้ำเลี้ยงหลักของประเทศแต่อีกแง่มุมหนึ่งคนไทยกลับต้องเผชิญกับวิกฤติราคาพลังงานสูงขึ้นและกระทบต่อเนื่องไปยังราคาต้นทุนวัตถุดิบ จนกระทั่งต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแทบทั้งหมด รวมถึงการเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี รวมถึงน้ำท่วม ทำให้คนไทยมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูงขึ้น

ดังนั้นเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อในช่วงปลายปีนี้ให้กลับมาคึกคักมากขึ้น ล่าสุด… รัฐบาลจึงเตรียมพิจารณานำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาใช้ไม่ว่าจะเป็น โครงการคนละครึ่งเฟส 6 และช้อปช่วยชาติ หลังจากต้นปีให้สิทธิ “ช้อปดีมีคืน” ไปแล้ว โดยที่รอบนี้เปิดช่องให้โรงแรม-ที่พักทั่วประเทศร่วมขบวนด้วย โดยคาดว่าจะเสนอ ครม. อนุมัติภายในวันที่ 25 ต.ค.นี้ หรืออย่างช้าสัปดาห์ต่อไป ซึ่งทำให้ปีนี้มีช้อปดีมีคืนและช้อปช่วยชาติ ออกมา กระตุ้นทั้งต้นปีและปลายปี

แนะสารพัดวิธีพยุง ศก.

ที่ผ่านมาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้เสนอแนะภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกนโยบายกระตุ้นการจับจ่ายอย่างต่อเนื่องให้ตรงเป้าและรวดเร็วในโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการช้อปดีมีคืน โครงการสร้างเมืองปลอดภาษี เพื่อให้ผู้มีกำลังซื้อจับจ่ายในประเทศแทนที่จะนำเงินไปจับจ่ายต่างประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องกำกับดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต เพราะหากสินค้าปรับราคาสูงขึ้นมากเป็นภาระต่อค่าครองชีพที่สูงต่อประชาชน แต่ถ้าไม่อนุญาตให้ปรับราคา ผู้ผลิตก็จะเลี่ยงไม่ขึ้นราคา แต่ใช้วิธีปรับลดไซซ์-ปริมาณสินค้า เพราะทนต่อการแบกต้นทุนไม่ไหว

นอกจากนี้ยังแนะนำให้ภาครัฐเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ ที่ต้องเร่งรัดดำเนินการโครงการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อเร่งสร้างเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับศักยภาพภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง รวมถึงพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้กลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างเต็มที่

ฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด

เช่นเดียวกับ 2 ห้างใหญ่ ทั้งเซ็นทรัล-เดอะมอลล์ ที่มองว่าแคมเปญต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะเข้ามาช่วยกระตุ้นให้เกิด “มู้ด” ของการจับจ่ายใช้สอย และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเมื่อรวมกับแคมเปญใหญ่ของศูนย์การค้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เช่น แคมเปญปีใหม่ และกิจกรรมส่งเสริมการขาย คาดว่าจะช่วยเพิ่มทราฟฟิกและกำลังซื้อให้กลับมาฟื้นตัวเท่ากับปี 2562 ได้แน่นอน

“การมีโครงการภาครัฐในแต่ละครั้ง จะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการได้อานิสงส์ ทั้งจากแคมเปญซึ่งปัจจุบันหลังจากสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปลายปี จะยิ่งช่วยกระตุ้นกำลังซื้อประชาชนให้คึกคักมากยิ่งขึ้น”

สร้างเงินจริงในระบบ

เช่นเดียวกับค่ายสยามพิวรรธน์ ที่ย้ำว่า “มาตรการช้อปดีมีคืน” ของรัฐบาลที่ออกมาเมื่อต้นปี คือให้ใช้จ่ายได้ระหว่าง 1 ม.ค.-15 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา และนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท ถือเป็นความสำเร็จอย่างมากในการช่วยกระตุ้นการจับจ่ายและทำให้บริษัทมียอดขายเติบโตขึ้นจากช่วงปกติ 10-15% ซึ่งปีนี้หากภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง อาทิ มาตรการช้อปดีมีคืน ก็เชื่อมั่นว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และภาคเอกชนเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายมากขึ้นจริง เพราะสามารถนำหลักฐานไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ ส่งผลให้เงินในระบบหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งมั่นใจว่าหากรัฐบาลเข็นโครงการช้อปดีมีคืนออกมาได้อีก ก็ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ก้าวพ้นจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ได้

เปิดกว้างทุกช่องทาง

ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก เพราะฝ่ายห้างโลตัส ก็มีมุมมองใกล้เคียงกัน เพราะปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 และยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการผ่อนคลายมาตรการโควิดและการกลับมาของการท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ผู้บริโภคยังคงกังวลเรื่องเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ฉะนั้นมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐจะมีส่วนช่วยอย่างมาก ในการกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อและสร้างความคึกคักในการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเปิดกว้างให้สามารถใช้ได้ในทุกช่องทาง จะยิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคในการเข้าถึงโอกาส และหากมีมาตรการออกมารองรับในช่วงสิ้นปีได้ ก็คาดว่าจะเสริมบรรยากาศในช่วงปีใหม่ ประกอบกับปัจจัยภายนอกอื่น ๆ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ก็อาจทำให้เทศกาลปีใหม่ในปีนี้กลับมาใกล้เคียงกับปีก่อนเกิดโควิดได้เช่นกัน

เชื่อปลายปีเศรษฐกิจฟื้น

ฟากฝั่งของห้างแม็คโคร ต่างก็เชื่อมั่นว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปลายปี เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว หลังจากผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาเพื่อช่วยประชาชนลดภาระค่าครองชีพ รวมถึงการเปิดประเทศ และการกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายและเห็นทิศทางการปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ประกอบการโชห่วย ต่างได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหาร ตอนนี้ธุรกิจเริ่มเห็นแนวโน้มการเติบโต จากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและกำลังซื้อที่กลับมา หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้จำนวนลูกค้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยก็ได้อานิสงส์จากการเข้าร่วมแคมเปญของภาครัฐไม่น้อยหน้าไปกว่ากันด้วย

ช้อปดีมีคืน” คือมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับบุคคลเสียภาษีเงินได้ โดยนำใบเสร็จจากการใช้จ่ายสินค้าหรือบริการภายในประเทศ ไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบภาษี (แวต) และส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่น ส่งเสริมการอ่าน และกระตุ้นให้คนออกไปจับจ่ายใช้สอย

แม้ว่าในส่วนของภาครัฐเองจะต้องสูญเสียรายได้เกือบ ๆ 5,000 ล้านบาท จากที่มีผู้มาใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีสักประมาณ 1.1 ล้านคน ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะประเมินแล้วว่า จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกันได้มากถึง 33,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าก็จะไปช่วยกระตุ้นให้จีดีพีเติบโตเพิ่มมากขึ้น

เชื่อได้ว่าในปลายปีนี้…ไม่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะออกมาในรูปแบบไหน หรือการเดิมพันครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้จริงหรือไม่ ?แต่เชื่อว่า…หลายคนต่างตั้งตารออย่างใจจดใจจ่อ!! ที่สำคัญ “มี” ก็ยังดีกว่า “ไม่มี” เพราะกำลังซื้อของคนไทยเริ่มอ่อนแรงลงไปทุกนาที!.

ทุกมาตรการหนุนท่องเที่ยว

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกว่า ทุกมาตรการที่ออกมาเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะในช่วงที่ผ่านมาการท่องเที่ยวยังได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณทำการตลาดน้อยมาก จึงอยากเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนด้านงบประมาณให้กับหน่วยงานด้านการทำการตลาด อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท., สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เพื่อกระตุ้นตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับมาโดยเร็ว

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงน้ำท่วม ทำให้คนไทยมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว ดังนั้นการออกมาตรการกระตุ้นจะเป็นเรื่องที่ดีมากที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย

ในมุมของเอกชนต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเชื่อว่าหากมีโครงการช้อปช่วยชาติ หรือช้อปดีมีคืน ออกมากระตุ้น กำลังซื้อประชาชนในช่วงปลายปีนี้ ก็ยิ่งทำให้ภาคการท่องเที่ยวมีกำลังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น”

เพิ่มเวลา-จำกัดการซื้อ

บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า หากรัฐบาลมีเงินและมีวิธีการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคช่วงปลายปีก็ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช้อปดีมี คืนหรือช้อปช่วยชาติ ก็เป็นมาตรการที่รัฐบาลเคยทำมาแล้ว และได้ผลตอบรับดี ซึ่งหากมีอีกก็ยิ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อได้บ้างในช่วงปลายปี

การช่วยทำให้กำลังซื้อดีขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีฉะนั้นเราต้องให้กำลังใจรัฐบาล แม้ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งจากการเปิดประเทศ การเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ เอสเอ็มอีมีรายได้ดีขึ้น และธุรกิจโรงแรมก็เปิดรับพนักงานใหม่ แม้ยังได้รับผลกระทบเรื่องของแพงและราคาน้ำมันที่ยังผันผวน แต่เชื่อว่าคนไทยสามารถยอมรับได้ เพราะหากเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ไทยยังดีกว่ามาก”

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาหากเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ 15 วัน เหมือนที่ผ่านมา ก็สามารถกระตุ้นกำลังซื้อได้เล็กน้อย และอาจกระจุกตัวอยู่เพียงแค่คนรวยที่อาจกว้านซื้อสินค้าไปกักตุน และความช่วยเหลือยังไปไม่ถึงรากหญ้าจริง ๆ จึงควรขยายเวลามากขึ้นกว่าเดิม เช่น จาก 15 วันเพิ่มเป็น 30 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคมีเวลาซื้อ พร้อมกับกำหนดกฎเกณฑ์โดยจำกัดจำนวนสินค้าต่อคน เพื่อแก้ปัญหาซื้อกักตุน โดยมั่นใจว่าถ้าเพิ่มระยะเวลาให้มากขึ้นก็จะช่วยเพิ่มเงินในระบบให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ขอเพิ่มเงินลดหย่อนภาษี

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์” นักวิชาการค้าปลีก มองว่า การนำโครงการช้อปช่วยชาติกลับมาในช่วง 2 เดือนสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงของเทศกาลต่าง ๆ และเป็นช่วงหน้าขายของธุรกิจค้าปลีกจึงคาดว่าจะช่วยให้บรรยากาศการจับจ่ายมีความคึกคักมากขึ้น อีกทั้งประเมินว่าในครั้งนี้จะมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เข้าร่วมโครงการประมาณ 1.5 ล้านคน

ทั้งนี้ มองว่าหากรัฐบาลกำหนดเพดานการใช้จ่ายอยู่ที่ 100,000 บาท ก็จะทำให้มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากถึง 150,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแนวทางที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยผลักดันในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้เพิ่มวงเงินในมาตรการช้อปดีมีคืนเป็น 100,000 บาท 3 ครั้ง คือ ต้นปี กลางปี และปลายปี เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อสูง และดำเนินโครงการคนละครึ่ง รวมทั้งไทยเที่ยวไทย ต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปี

“ขณะนี้แม้ผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนปกติ แต่พบว่ายอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จลดลง และความถี่ในการจับจ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งยอดขายสาขาเดิมลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเห็นได้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย และกำลังซื้อที่อ่อนแอทำให้การจับจ่ายโดยรวมไม่เติบโต เกิดจากความกังวลต่อภาวะหนี้ครัวเรือน และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ผู้บริโภคจึงซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น ลดการบริโภคฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก”

…ทีมเศรษฐกิจ…