เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสม สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลมอบหมายให้ รฟม. ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาฯ ตามผลการศึกษา และแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

นายสาโรจน์ กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนโครงการ พบว่า มูลค่าการลงทุนโครงการดังกล่าว มีมูลค่าการลงทุนสูง รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถ และบำรุงรักษา (O&M) ประกอบกับกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ รฟม. ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค จึงมอบหมายให้ที่ปรึกษาทบทวนการออกแบบ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และวิเคราะห์รูปแบบการดำเนินโครงการ และทางเลือกรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อให้ได้รูปแบบการดำเนินโครงการที่เป็นไปได้มากที่สุด ก่อนประมวลเรื่องเสนอขอความเห็นชอบต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป  

ด้าน นายวุฒิชัย พรรณเชษฐ์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การทบทวนครั้งนี้เป็นการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมเบื้องต้นในส่วนที่จำเป็น อาทิ คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร, แผนการเดินรถเบื้องต้น, รูปแบบแนวเส้นทางโครงการ, การประมาณการวงเงินลงทุนโครงการ, รายได้ค่าใช้จ่าย และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยในส่วนของแนวเส้นทางโครงการนั้น เพื่อลดต้นทุนโครงการ จึงได้ปรับรูปแบบแนวเส้นทางจากเดิมเป็นรูปแบบผสมระหว่างใต้ดิน และระดับดิน (ช่วงจากแยกกองกำลังผาเมือง มาจนถึงแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่) ระยะทาง 15.7 กิโลเมตร (กม.) 16 สถานี เป็นระดับดินตลอดแนวเส้นทาง ระยะทาง 16.7 กม. 16 สถานี

ส่วนรูปแบบระบบรถไฟฟ้า เดิมเป็นรถไฟฟ้าล้อเหล็ก ประเภท Tram วิ่งบนราง แต่การทบทวนครั้งนี้มีรูปแบบที่ใช้ศึกษา ประกอบด้วย 1.รถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) 2.รถรางไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) และ 3.รถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ (Electric Bus Rapid Transit : E-BRT) ทั้งนี้ ในการประชุมได้นำเสนอโครงการที่เหมาะสม 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าล้อเหล็ก แนวเส้นทางผสมใต้ดินและระดับดิน วิ่งบนรางในเขตทางเฉพาะตลอดสาย 2.รถไฟฟ้าล้อเหล็ก ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง และ 3.รถไฟฟ้าล้อยาง ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง

โดยจากการเปรียบเทียบ และพิจารณาให้คะแนนทั้ง 3 รูปแบบตามปัจจัย 3 ด้านหลัก ได้แก่ วิศวกรรมและจราจร, การลงทุนและผลตอบแทน และสิ่งแวดล้อม พบว่า รถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ระดับดินตลอดแนวทางเส้นทางเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากค่าลงทุนงานก่อสร้างและเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษา และดำเนินการ ค่าเวนคืนที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง และผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงการก่อสร้างน้อยกว่าระบบอื่นๆ  

นายวุฒิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับมูลค่าการลงทุน หากเป็นรถไฟฟ้าล้อยางระดับดิน วงเงินอยู่ที่ประมาณ 10,024 ล้านบาท ขณะที่รถไฟฟ้าล้อเหล็ก ตามผลศึกษาเดิมที่มีทั้งระดับดิน และใต้ดิน วงเงินประมาณ 26,595 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการคิดค่าโดยสารนั้นมี 3 รูปแบบ คือ 1.คิดตามระยะทาง 14+1 สูงสุดไม่เกิน 30 บาท, 2.คิดแบบขั้นบันได 0-8 สถานี 15 บาท และมากกว่า 8 สถานี 20 บาท และ 3.คิดแบบคงที่ 20 บาทตลอดสาย ทั้งนี้ หากเก็บแบบตามระยะทาง จะมีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการสูงที่สุด โดยปีแรกของการเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 16,000 คน-เที่ยวต่อวัน  

นายวุฒิชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนงานดำเนินงานโครงการนั้น คาดว่าจะศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น รายงานอีไอเอ และรายงาน PPP แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.65 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า และเดินรถ ช่วงเดือน ม.ค.66-ม.ค.67 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเดือน ม.ค.67 คัดเลือกเอกชน PPP เดือน ส.ค.67-ส.ค.68 เริ่มงานก่อสร้างเดือน ก.ย.68 และเปิดให้บริการเดือน ธ.ค.71.