นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าแผนศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) วงเงินศึกษา 67 ล้านบาท สนข. อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการภายในสิ้นปี 65 เพื่อนำข้อมูลและรูปแบบการดำเนินทั้งเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของโครงการฯ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการเสนอโครงการต่อนักลงทุนในต่างประเทศ (RoadShow)

ทั้งนี้จากนั้นจะเสนอโครงการต่อนักลงทุนในต่างประเทศ อาทิ จีน, ฝรั่งเศส และเยอรมนี เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะของผู้ที่สนใจลงทุนในช่วงไตรมาส 1 ปี 66 หรือ ม.ค.-มี.ค. 66 โดยหลังจาก RoadShow ในต่างประเทศแล้ว เบื้องต้น สนข. จะดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดและปรับรูปแบบการวิเคราะห์ของโครงการฯ ภายในไตรมาส 2 ของปี 66 ช่วง เม.ย.-มิ.ย. 66 และ เสนอต่อ ครม. พิจารณาเห็นชอบอนุมัติ เพื่อดำเนินโครงการภายใน มิ.ย. 66

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งสำนักงานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ.SEC) เพื่อเป็นหน่วยงานในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ในลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะเสนอ ครม. เห็นชอบในหลักการภายในปี 65 และเสนออนุมัติ พ.ร.บ.ดังกล่าว ภายใน มิ.ย. 66 ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการเสนอขออนุมัติโครงการ

ขณะเดียวกัน หลังจากนั้นจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาและเข้าสู่กระบวนการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร อนุมัติภายในไตรมาส 4 ของปี 67 ทั้งนี้ หากร่าง พ.ร.บ.SEC มีผลบังคับใช้แล้ว จะดำเนินการจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในไตรมาส 1 ของปี 68 อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะลงนามสัญญาผู้ชนะการประมูลภายในไตรมาส 3 ของปี 68 หรือ ก.ค.-ก.ย. 68 และดำเนินการก่อสร้างภายในปี 68 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในระยะแรกในปี 73

นายปัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการศึกษาพัฒนาท่าเรือของโครงการฯ เพื่อเชื่อมระบบรางและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เบื้องต้น สนข. ได้ดำเนินการศึกษาท่าเรือ แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งละ 2 ระยะ รวมรองรับปริมาณตู้สินค้าฝั่งละจำนวน 40 ล้าน ที.อี.ยู. ประกอบด้วย 1.ท่าเรือแหลมริ่ว จ.ระนอง โดยระยะที่ 1 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 20 ล้าน ที.อี.ยู. และระยะที่ 2 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 20 ล้าน ที.อี.ยู.

2.ท่าเรืออ่าวอ่าง จ.ชุมพร แบ่งออกเป็น 2 ระยะ รวมรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 40 ล้าน ที.อี.ยู. ระยะที่ 1 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 20 ล้าน ที.อี.ยู. และระยะที่ 2 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 20 ล้าน ที.อี.ยู. เมื่อเทียบกับท่าเรือ TUAS ประเทศสิงคโปร์ ในปัจจุบันสามารถพัฒนาท่าเรือในระยะที่ 1 เพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 20 ล้าน ที.อี.ยู. เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ โครงการเป็นท่าเรือที่ทันสมัยโดยควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ เพื่อขนส่งตู้สินค้าคอนเทเนอร์ ซึ่งจะเชื่อมต่อร่วมกับแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ (MR-Map) โดยใช้แนวเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ซึ่งทางรถไฟได้ออกแบบเพื่อรองรับ Double Deck รองรับการขนส่งตู้สินค้าของท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง มีระยะทางรวม 109 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งมีรูปแบบการก่อสร้างในลักษณะอุโมงค์ ระยะทาง 21 กม. มีจุดเริ่มต้นที่ท่าเรือแหลมริ่ว จ.ชุมพร ฝั่งอ่าวไทย ผ่านแนวเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 89.35 กม. และจุดสิ้นสุดที่ท่าเรืออ่าวอ่าง จ.ระนอง ฝั่งอันดามัน