เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) ปี 2022 ภายหลังจากที่คณะกรรมการ กสทช. มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ให้กับ กกท. เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ภายในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท จากจำนวนเต็ม 1,600 ล้านบาท ที่ กกท. เสนอขอรับการสนับสนุน

ดร.ก้องศักด ยอดมณี กล่าวว่า แม้ กกท. จะได้เงินสนับสนุนจาก กสทช. จำนวน 600 ล้านบาท แต่ กกท. ก็ยังต้องหาเงินเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท จากผู้สนับสนุนภาคเอกชนเพื่อนำไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ขณะเดียวกัน กกท. เดินหน้าหาผู้สนับสนุนเพิ่มเติม โดยขณะนี้มีภาคเอกชนหลายรายยืนยันให้การสนับสนุน และยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แม้ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า 3 องค์กรยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยืนยันที่จะให้เงินสนับสนุนรวมกันเป็นจำนวนเงินราว 400-500 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตอบโลกในครั้งนี้

ผู้ว่าการ กกท. กล่าวต่อว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนจาก กสทช. และขั้นตอนสำคัญอีกขั้นคือการผ่านร่างสัญญา ในเบื้องต้น กกท. ได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาเบื้องต้นแล้ว ถัดไปจะต้องประสานงานต่อเนื่องเรื่องเงิน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน

นอกจากนี้ ข้อสรุปเรื่องทั้งหมดขึ้นอยู่กับคำตอบของฟีฟ่า ว่าจะตกลงราคาที่เหมาะสมอย่างไร โดยจะได้คำตอบชัดเจนจากตัวแทนของฟีฟ่า ภายในวันนี้ เวลา 15.00 น. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กกท. พยายามเต็มที่ในการตกลงกับฟีฟ่า ให้ได้ข้อยุติให้เร็วที่สุด และได้ส่งเงื่อนไขต่างๆ ไปที่ฟีฟ่าครบทุกเงื่อนไขแล้ว เช่น เรื่องขอให้ฟีฟ่าพิจารณาราคาเหมาะสม เงื่อนไขต่างๆ ที่จะแบ่งแยกเป็นแพ็กเกจเล็กลง เป็นต้น ซึ่งหากได้คำตอบแล้ว กกท. จะเร่งดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

“เรื่องเงินที่ยังขาดอีกเท่าไหร่นั้นเราคงยังตอบไม่ได้เพราะทางฟีฟ่า ยังไม่ได้ตอบมาเรื่องจำนวนที่ชัดเจน เราจะพยายามต่อรองให้ฟีฟ่า ลดราคาให้ได้ ซึ่งราคา 1,600 ล้าน คงไม่จ่ายราคานี้ เพราะเป็นตัวเลขที่มากเกินควรในสายตาของประชาชนและ กกท. ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซื้อ ถ้าราคาดังกล่าวก็ถือว่าสูงเกินไป ขณะที่เวลาเดดไลน์คือ ก่อนวันที่ 20 พ.ย.นี้ ถ้าคุยไม่ลงตัวก่อนวันที่ 20 พ.ย. และฟีฟ่าไม่ยอมลดราคาจริงๆ คงต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ถ้ามันเป็นราคาที่สูงเกินไปคงรับไม่ได้ ครั้งนี้ก็อาจจะไม่มีการถ่ายทอดสดเกิดขึ้น ถ้าการผ่อนผันเรื่องราคาของฟีฟ่า ไม่เกิดขึ้น แต่ยังเชื่อว่าทางฟีฟ่า คงจะมีทางออกหรือข้อเสนออื่นๆ ให้ได้พิจารณา” บิ๊กก้อง กล่าว

ทางด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าว ในข้อตกลงจะมีสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) หรือ ทีวีพูล ในการถ่ายทอดสดการจัดสรรโปรแกรมการแข่งขันที่ได้รับใบอนุญาติในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เป็นอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้กับประชาชนและผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงการรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 อย่างเท่าถึงและเท่าเทียม ผ่านกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียงทุกประเภท ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช. โดยการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ทุกภาคส่วน.