สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ( นาซา ) ออกแถลงการณ์ เรื่องความสำเร็จในการส่งจรวดขนาดยักษ์ “สเปซ ลอนช์ ซิสเต็ม” หรือ “เอสแอลเอส” ออกจากฐานปล่อยจรวดหมายเลข 39-บี ภายในศูนย์อวกาศเคนเนดี บนแหลมคานาเวอรัล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา เมื่อเวลา 01.47 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพุธ ( 13.47 น. ตามเวลาในประเทศไทย ) หลังพยายามมาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

จรวดเอสแอลเอสของนาวา ออกเดินทางจากฐานปล่อยจรวด 39-บี ภายในศูนย์อวกาศเคนเนดี บนแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565


แม้การออกเดินทางช้ากว่ากำหนดการเดิมประมาณ 40 นาที เนื่องจาก “เกิดความขัดข้องทางเทคนิคในนาทีสุดท้าย” อย่างไรก็ตาม นาซาสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง และเมื่อจรวดทะยานขึ้นจากฐานปล่อย ยานแคปซูลไร้คนขับ “โอไรออน” แยกตัวได้สำเร็จเป็นขั้นตอนสุดท้าย


ทั้งนี้ ภารกิจของยานแคปซูลโอไรออน แม้ไม่มีมนุษย์โดยสารไปด้วย แต่ถือเป็นครั้งแรกในรอบครึ่งศตวรรษ ที่นาซาส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งกรอบระยะเวลาของการทดสอบยานลำดังดล่าวอยู่ที่ระหว่าง 4-6 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนด ยานแคปซูลจะเดินทางกลับมายังโลกและลงจอดกลางมหาสมุทรแปซิฟิก โดยนาซาจะศึกษาการทำงานของระบบป้องกันความร้อนระหว่างเสียดสีกับบรรยากาศโลกของตัวยาน เพื่อนำไปพัฒนาสำหรับภารกิจกลับมาส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ ที่มีกำหนดเดินหน้า ในปี 2567


สำหรับระบบเอสแอลเอสเป็นเทคโนโลยีที่นาซาพัฒนา เพื่อใช้สำหรับโครงการสำรวจอวกาศห้วงลึก ซึ่งรวมถึงภารกิจหวนสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบ 50 ปี ในชื่อ “อาร์ทิมิส วัน” สานต่อภารกิจของโครงการอะพอลโล ซึ่งดำเนินการระหว่างปี 2504-2515 สำเร็จ 32 ครั้ง ล้มเหลวสิ้นเชิง 2 ครั้ง และล้มเหลวบางส่วน 1 ครั้ง ส่งมนุษย์เดินทางไปสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์รวมทั้งสิ้น 12 คน


อนึ่ง ระบบเอสแอลเอส หนัก 2.6 ล้านกิโลกรัม สูงประมาณ 100 เมตร เทียบท่าอาคาร 32 ชั้น และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.4 เมตร เป็นการเดินทางสู่อวกาศของจรวดขนาดใหญ่และทรงพลังที่สุด ยิ่งกว่าจรวด “ฟอลคอน เฮฟวี” ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ โดยจรวดเอสแอลเอสแบ่งน้ำหนักบรรทุกออกเป็น 3 ช่วง สำหรับวงโคจรระดับต่ำ เขตอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ และวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ใช้งบประมาณตลอดโครงการประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 822,710 ล้านบาท ).

เครดิตภาพ : REUTERS