จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับภารกิจสำคัญ ที่ประเทศไทยผงาดเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022) นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่งัด “ยิ้มสยาม” เรียกเรตติ้งจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจ พร้อมกับอวดโฉม “ซอฟต์เพาเวอร์ไทย” สู่เวทีโลก

โดยมีประเทศสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุม ท่ามกลางผู้นำคนสำคัญของโลก ทั้ง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา คิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ พร้อมด้วยผู้นำและตัวแทนจากอีกหลายประเทศเข้าร่วม

แต่ก็ยังไม่วายโดนเปรียบเทียบกับการจัดประชุมเอเปค เมื่อ 19 ปีก่อน ในยุค รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในตอนนั้นสามารถดึง จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐมาร่วมประชุมได้ แต่ครั้งนี้มีเพียงรองประธานาธิบดีมาร่วมประชุม จึงกลายเป็นประเด็นเปรียบเทียบความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยในสายตาชาติมหาอำนาจ ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีภาพ “บิ๊กตู่” จับมือ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นภาพที่เกิดขึ้นในเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 10 ที่ประเทศกัมพูชา

งานนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดข้อครหา เพราะช่วงที่ผ่านมา โจ ไบเดน เดินทางทัวร์ประเทศในแถบอาเซียนหลายประเทศ ทั้ง การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 10 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และ การประชุมนอกรอบก่อนการประชุมผู้นำจี 20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย แต่กลับไม่เดินทางมาประเทศไทย ทั้งที่ไทยกำลังเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค

ปรับโฟกัสมาที่ไฮไลต์สำคัญของการประชุมเอเปค ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องเศรษฐกิจในชาติสมาชิก ที่จะมีการพัฒนาร่วมกัน โดยรัฐบาลไทยมีความพยายามผลักดันให้ผู้นำร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว แต่กลับทำเอาคนไทยออกอาการงงไปตามๆ กัน เพราะรัฐบาลก้าวข้ามเศรษฐกิจในประเทศ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากจากพิษเศรษฐกิจตกสะเก็ดอยู่ จนกลายเป็นว่ารัฐบาลเลือก “ปิดตาข้างเดียว” เพื่อที่จะสร้างภาพที่สวยงามในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค

อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการประชุมเอเปคในครั้งนี้ อาจจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากก็น้อย แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความรู้สึกของประชาชนตาดำๆ ที่ยังรอความหวังว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศได้แบบจริงจัง เพื่อฟื้นฟูประเทศและประชาชน หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 อย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากนั้นยังมีแรงเสียดทานนอกห้องประชุมเอเปคเกิดขึ้น จากกรณีกลุ่มผู้ชุมนุม “ราษฎรหยุดAPEC2022” ที่นำโดย “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ที่ออกมาลงถนนเขย่าการประชุมเอเปค เพื่อให้ชาวโลกได้ตาสว่าง เห็นถึงปัญหาประชาธิปไตยไทย ภายใต้อำนาจของ “พี่น้อง 3 ป.” พร้อมย้ำจุดยืนว่า “บิ๊กตู่” ไม่มีความชอบธรรมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกลุ่มเอเปค และเรียกร้องให้ยุบสภา! ก่อนที่จะบานปลายนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะเดือดระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน บริเวณถนนดินสอ และมีภาพการใช้กระสุนยางเพื่อควบคุมสถานการณ์ จนกลายเป็นการปลุกกระแสการเมืองบนท้องถนนให้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

ทั้งนี้หากดูบริบทโดยรวมแล้ว การเมืองไทยหลังการประชุมเอเปค ยังคงมีแรงเสียดทานสำหรับ “บิ๊กตู่” ไม่น้อยลงไปจากเดิม ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่ส่อแววจะเพิ่มแรงเสียดทานในช่วงหลังจากนี้ แบบไม่ลดละ

โดยหมุดหมายสำคัญทางการเมือง ที่จะเป็นจุดชี้เป็น-ชี้ตาย ของ “พี่น้อง 3 ป.” ก็คือการตัดสินใจของ “บิ๊กตู่” กับเส้นทางการเมืองในอนาคต ที่เจ้าตัวได้ขีดเส้นเตรียมประกาศความชัดเจน หลังจบการประชุมเอเปค ซึ่งจะกลายเป็น “เดิมพันสุดท้าย” ที่จะต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า “บิ๊กตู่” จะตัดสินใจอย่างไร!

ซึ่งงานนี้ “บิ๊กตู่” มีทางเลือกเบื้องต้น คือการเล่นการเมืองแบบ “ลอยตัว” เหมือนที่ผ่านมา โดยอาจจะยังไม่เลือกสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะยอมให้พรรคใดพรรคหนึ่งเป็นผู้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งแนวทางนี้มีโอกาสที่จะเป็น พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นนั่งร้านอำนาจเดิม และมีโอกาสได้ ส.ส. เกิน 25 ที่นั่ง หรืออาจจะเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะทำหน้าที่เป็นนั่งร้านอำนาจใหม่

และอีกทางเลือกหนึ่ง คือการที่ “บิ๊กตู่” เลือกทิ้ง พรรคพลังประชารัฐ และไปซบ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีกลุ่มก๊วนพร้อมเป็นนั่งร้านอำนาจใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการตีปี๊บเตรียมเปิดตัวบุคคลระดับ VVIP จากหลายพรรคเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการปั่นกระแสเพิ่มกระสุนหรือไม่ ก็จะต้องจับตาดูกันต่อไป แต่เป้าหมายสำคัญของพรรคจะต้องได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 เสียง เพื่อให้มีโอกาสเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นโหวตในสภา

ขณะเดียวกันเมื่อเช็กเสียงในกลุ่ม ส.ว. แล้ว ก็จะมีเสียงแตกที่อยู่ในส่วนของ “บิ๊กตู่” ประมาณ 100 เสียง ซึ่งก็จะต้องมีการฟาดฟันกันต่อในสภากันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมเงื่อนไขสำคัญคือการดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกเพียง 2 ปี เท่านั้น

ทั้งนี้หากท้ายที่สุดแล้ว “บิ๊กตู่” ไปร่วมกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ เองก็ยังมีท่าทีเดินหน้าต่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง โดยมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งล่าสุดเจ้าตัวก็ออกมาประกาศส่งสัญญาณ “ไฟเขียว” ไม่ขัดข้อง หากลูกพรรคจะเสนอชื่อตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็แล้วแต่สมาชิกพรรค

ส่วนบรรดากลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ ยังคงเหนียวแน่นอยู่กับ พรรคพลังประชารัฐ ณ เวลานี้ โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตร ขณะที่การเคลื่อนไหวภาพรวมของพรรค ก็ได้ฤกษ์จัดทัพเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งแล้ว โดยมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 4 ภาค ใน 21 จังหวัด รวม 50 คน ท่ามกลางผลโพลที่ออกมาชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย มีโอกาสสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งพรรคการเมือง-คนการเมือง ในห้วงเวลานี้ ยังเอาแน่เอานอกไม่ได้ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง เกมการเมืองเปลี่ยน! ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนในหลายๆ อย่างตามมา โดยเฉพาะกลุ่มที่ตกปากรับคำจะกอดคอร่วมเป็นร่วมตายกับพรรคเดิม ก็ยังคงมีโอกาสพลิ้วและพลิกลิ้นได้ในท้ายที่สุด ทั้งนี้หากดูจากไทม์ไลน์การยุบสภาแล้ว มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงหลังการประชุมเอเปค ไปจนถึงช่วงกลางเดือน ก.พ. 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่จะเกิดแรงเขย่า ย้ายขั้วย้ายค่าย ของบรรดานักการเมือง และพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงนี้

โดยปัจจัยที่อาจจะทำให้เกมการเมืองเปลี่ยนหลังจากนี้มีหลายกรณี ทั้งการตีความกฎหมายลูก 2 ฉบับ ทั้ง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่.. ) พ.ศ. ….  และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. ….  ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 23 พ.ย. และ 30 พ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยหากมีคำวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือทั้ง 2 ฉบับ ขัดรัฐธรรมนูญ อาจจะนำมาสู่การเปลี่ยนเกมการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง

นอกจากนั้นยังมีคดีการเมืองสำคัญ ที่จ่ออยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่จะมีการสรุปในช่วงปลายเดือน พ.ย. นี้ 4-5 คดี โดยมีข่าวลือแพร่สะพัดว่าหนึ่งในนั้นคือคดี คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ที่มีนักการเมืองคนสำคัญหลายรายถูกกล่าวหา ทั้ง ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่คนนามสกุลชินวัตร อาจจะถูก ป.ป.ช. เช็กบิลอีกครั้ง! รวมทั้งยังมี คดีโครงการขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ คดีโครงการขายมันเส้นแบบจีทูจี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว โดยทั้ง 2 คดี มีผู้ถูกกล่าวหาที่เป็น “บิ๊กเนมการเมือง” ที่ถือเป็น “คีย์แมนการเมือง” คนสำคัญหลายคนด้วยกัน  ดังนั้นผลของคดีดังกล่าวอาจจะส่งผลให้เกมการเมืองเปลี่ยนไปในทิศทางใดทางหนึ่ง

ปิดท้ายด้วยปมในสภา อย่าง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่ยังจ่อเข้าพิจารณาในสภา ซึ่งประเด็นร้อนเรื่องนี้อาจจะกลายเป็น “จุดแตกหัก” ถ่างรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทย ที่ต่างออกแอ๊คชั่น “แยกเขี้ยว” เข้าใส่กันไม่ลดละ ดังนั้นจะต้องจับตามองกันให้ดี เพราะอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนเกมการเมืองได้อีกจุดหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลคงจะสรุปได้ว่า เกมอำนาจบนเส้นทางการเมืองไทยหลังจากนี้ เป็นช่วงที่ลุ้นระทึกกันมากที่สุด จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายที่ต้องลุยไฟกันเลยทีเดียว!