เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ห้องประชุมเกาะลังกาจิว ศาลากลางจังหวัดชุมพร ชั้น 2 นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้เชิญ นายนพพร อุสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร นายธานี พิกุลทอง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดชุมพร วัฒนธรรมจังหวัดชุมพร หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองชุมพร ผอ.ทสจ.ชุมพร ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ชุมพร กำนันตำบลวิสัยเหนือ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.วิสัยเหนือ นายก อบต.วิสัยเหนือ และ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชุมพร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับ “วัดร้าง” วัดเขาเจดีย์วิสัยไตรรัตนาราม ต.วิสัยเหนือ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ นั้น ซึ่งได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าวไปแล้ว

‘พศ.ชุมพร’ ตรวจวัดร้างทำคู่รักถูกรางวัลที่ 1 ยันเป็นเพียงสำนักสงฆ์ไร้พระพักอาศัย

สมพรปาก! แชร์รูปวัดร้างก่อนหวยออก ลั่นถ้าถูกรางวัลที่ 1 จะบูรณะ สุดท้ายเป็นจริง

จากการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนวัด และทะเบียนวัดร้าง ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่ปรากฏชื่อ วัดเขาเจดีย์วิสัยไตรรัตนาราม จึงมีสถานะเป็น ที่พักสงฆ์ (ร้าง) และไม่ถือเป็นโบราณสถาน เนื่องจากเป็นสิ่งปลูกสร้างใหม่ เริ่มก่อสร้างประมาณปี พ.ศ. 2510 ตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ตามแผนที่แสดงบริเวณป่าชุมชนบ้านคลองสูบ ต.วิสัยเหนือ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร โดยยังไม่ปรากฏหลักฐาน เรื่องมีการขออนุญาตสร้างวัดในพื้นที่ป่า

เบื้องต้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ จะร่วมกันจัดกิจกรรมจิตอาสา ปรับปรุงภูมิทัศน์ และทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ ในวันที่ 22 พ.ย. 65 เวลา 08.30 น. โดยเน้นเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก แต่ยังคงความเป็นจุดเด่นด้านสิ่งปลูกสร้าง (ร้าง) และระบบนิเวศไว้ สำหรับในระยะยาว คณะกรรมการจัดการป่าชุมชน จะได้ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว และขอใช้พื้นที่เพื่อเข้าทำประโยชน์ในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงนิเวศของชุมชนต่อไป

ทั้งนี้ จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่วัดเขาเจดีย์วิสัยไตรรัตนาราม สร้างขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 2510 โดยพระสงฆ์ (หลวงพ่อแม้น) ได้สร้างเจดีย์ เสนาสนะต่าง ๆ ต่อมาเมื่อหลวงพ่อแม้นมรณภาพ ทำให้มีพระภิกษุสงฆ์พำนักเพียงครั้งคราว ไม่อยู่เป็นประจำ จนกระทั่งไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน เป็นสาเหตุให้เกิดความรกร้าง ตามที่ปรากฏเป็นข่าว.