เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า พันโทเสนาะ หลวงสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2555 ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อเวลา 00.30น. วันที่ 22 พ.ย. บ้านพักเลขที่ 13 ซอยรามคำแหง 130 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุ 88 ปี โดยมีกำหนดการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันที่ 22 พ.ย. เวลา 17.00 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ย. เวลา 19.30 น. ที่ศาลา 1 วัดบางเพ็งใต้ ซอยรามคำแหง 187 เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ จากนั้นจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน โดย สวธ.จะดำเนินการเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป นอกจากนี้ สวธ.ยังมอบเงินช่วยเหลือเมื่อศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือ เพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท

สำหรับประวัติ พันโทเสนาะ หลวงสุนทร เกิดเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2477 ที่จ.สมุทรสาคร สืบทอดสายเลือดดนตรีไทยจากครูบาง หลวงสุนทร ผู้เป็นบิดา ทางระนาดเอก และปี่ใน เริ่มเรียนดนตรีไทยกับคุณตาถม เจริญผล และยังได้เรียนดนตรีไทย เป็นศิษย์สายตรงกับครูดนตรีไทยหลายท่าน เช่น  ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครูเผือด นักระนาด ครูกมล (เจียน) มาลัยมาลย์ ครูสาลี มาลัยมาลย์ ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นต้น สำเร็จมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดพระยาทํา กรุงเทพฯ ต่อมาสําเร็จหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตร กรมยุทธศึกษาทหารบก เข้ารับราชการทหารที่กองดุริยางค์ทหารบกและโรงเรียนดุริยางค์ทหารบกจนเกษียณอายุราชการ

พันโทเสนาะ คือครูผู้เชี่ยวชาญในวิชาดนตรีไทย ทั้งทางทฤษฎี การปฏิบัติ และการประพันธ์เพลง มีความแตกฉานในศาสตร์แห่งดนตรีไทยอย่างลึกซึ้ง มีความสามารถสูงในการบรรเลงระนาดเอกอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกที่ได้รับการถ่ายทอดและฝึกฝนจากครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และได้รับมอบให้เป็นผู้อ่านโองการไหว้ครูดนตรีไทยจากครูประสิทธิ์ ถาวร และครูบุญยัง เกตุคง และท่านยังได้ศึกษาเรียนรู้ด้านทฤษฎีและการปฏิบัติเครื่องดนตรีสากล รวมถึงการเรียบเรียงเสียงประสาน พันโทเสนาะ ได้สร้างผลงานการบรรเลงไว้ในหลายรูปแบบ เช่น การประชันวงในโอกาสต่างๆ การบันทึกเสียงเพลงเดี่ยวระนาดเอกที่บันทึกโดยนายเดวิด มอร์ตัน ในปี พ.ศ. 2510 ชุดเพลงดีที่บ้านบาตร เป็นต้น และยังมีผลงานการเข้าร่วมวงดนตรีสากลและวงดนตรีลูกทุ่ง อีกด้วย

ภายหลังเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านยังได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่กับการบันทึกบทเพลง ทั้งบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเอง ประมาณ 40 เพลง ได้แก่ เพลงประเภทโหมโรง เช่น โหมโรงจักรทอง โหมโรงภัทรมหาราช โหมโรงรั้วแดงกำแพงเหลือง โหมโรงบุหลันลอยเลื่อน ประเภทเพลงทางเปลี่ยน เช่น เพลงมาลีหวน เพลงสมิงทองมอญ ประเภทเพลงเถา เพลงนกขมิ้นสี่ชั้น เพลงทัพบกรุกรบ เถา รวมถึงประเภทเพลงเดี่ยวอีกหลายบทเพลง ทั้งยังได้บันทึกบทเพลงที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูต่าง ๆ ประมาณ 500 เพลง เป็นโน้ตสากล เพื่อมอบให้เป็นสมบัติของมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทั้งยังเป็นการเผยแพร่และฝากไว้เป็นสมบัติของอนุชนรุ่นหลังสืบไป

รางวัลเกียรติคุณที่ได้รับ อาทิ เหรียญพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในงานบรรเลงดนตรีออกอากาศวิทยุ อส. พระราชวังสวนดุสิต เหรียญพระราชทานฯ เนื่องในงานสังคีตสายใจไทย เหรียญเกียรติคุณเนื่องในงานสายตระกูลดุริยประณีต ครบรอบ 100 ปี เหรียญเกียรติคุณครบรอบ 120 ปี ครูดนตรีไทย และรับพระราชทานโล่ เข็มประกาศเกียรติคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2555 โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นอกจากนี้ พันโทเสนาะ ยังได้ร่วมเล่นดนตรีในการแสดงดนตรีไทยโดยครูอาวุโสแห่งรัตนโกสินทร์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างต่อเนื่องทุกปีด้วย.