สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงไทเป สาธารณรัฐจีน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่า กระทรวงกลาโหมไต้หวันรายงานว่า อากาศยานของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) 21 ลำ จากจำนวนดังกล่าว 18 ลำ เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์เอช-6 เดินทางเข้ามาในเขตพิสูจน์ฝ่ายป้องกันภัยทางอากาศ (เอดีไอแซด) บริเวณหมู่เกาะปราตัส นอกชายฝั่งทางใต้สุดของไต้หวัน หรือทางเหนือสุดของทะเลจีนใต้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นการผ่านเขตเอดีไอแซดของไต้หวันมากที่สุดในคราวเดียว ของเครื่องบินทิ้งระเบิดเอช-6 ซึ่งมีศักยภาพบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์


แม้บรรดาผู้สันทัดกรณียังคงมองว่า มีความเป็นไปได้ต่ำมาก ที่กิจกรรมทางทหารของจีนและไต้หวัน จะนำไปสู่การเกิดสงครามระหว่างกัน โดยมองว่า รัฐบาลปักกิ่งใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “พื้นที่สีเทา” ซึ่งไม่ใช่การส่งสัญญาณพร้อมปะทะ แต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการ “มีอิทธิพล” เหนือบริเวณที่เป็นเป้าหมาย


อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน หลังไต้หวันประกาศ การเตรียมร้องเรียนครั้งใหม่ต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เกี่ยวกับการที่จีนยังคงใช้มาตรการทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมต่อไต้หวัน เริ่มตั้งแต่การระงับนำเข้าสับปะรด เมื่อเดือน ก.พ. 2564


ทั้งนี้ สำนักงานกิจการไต้หวันในกรุงปักกิ่งประกาศ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพิ่มรายชื่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ของไต้หวันในบัญชีระงับการนำเข้า โดยคราวนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายยี่ห้อ และอาหารทะเลอีกหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ ปลาหมึก ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน อาจต้องแบกรับความสูญเสียรวมกัน เป็นมูลค่าสูงถึง 3,680 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 4,158.90 ล้านบาท)


เนื้อหาในแถลงการณ์ของจีนระบุด้วยว่า ไต้หวัน “สร้างปัญหาอย่างไร้เหตุผล” และรัฐบาลปักกิ่งจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในแผ่นดินใหญ่ แต่สื่อท้องถิ่นหลายแห่งของไต้หวันรายงานว่า เครื่องดื่มแอลกฮอล์ซึ่งต้องเข้าสู่บัญชีดำของจีนในรอบนี้ เป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการ ยังคงระบุสถานที่ผลิตบนบรรจุภัณฑ์ว่า “สาธารณรัฐจีน” ไม่ใช่ “ไต้หวัน, จีน” และบริษัทบางแห่งได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลไทเป.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES