เมื่อวันที่ 19 ส.ค. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผ่านระบบ Zoom ว่า ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว แต่ยังมีคดีที่เอกชนฟ้องศาลว่าถูกละเมิด โดยบริษัทเอกชนแจ้งว่าได้รับความเสียหายจากการยกเลิกประมูลประมาณ 5 แสนบาท ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการนี้เกิดความโปร่งใส จึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อขอนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าร่วมระบบข้อตกลงคุณธรรมด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังที่จะส่งรายชื่อคณะผู้สังเกตการณ์มาเข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งทันทีที่กระทรวงการคลังส่งรายชื่อมา ทางคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 จะประชุมเตรียมการประมูลทันที คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน และภายในเดือน ต.ค.64 จะประกาศเชิญชวน และจะหน่ายเอกสารการประมูลได้ คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย.65

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า หลังจากได้ผู้ชนะประมูลแล้วผู้รับจ้างจะสามารถเริ่มงานระบบรถไฟฟ้าได้ทันที ซึ่ง รฟม. จะพยายามเร่งรัดงานในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จทันตามแผนงานที่วางไว้ ไม่กระทบกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเดิมมีแผนจะเปิดให้บริการประมาณกลางปี 68 ส่วนการเดินรถส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) จะเปิดให้บริการได้หลังจากสายตะวันออกประมาณ 3 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กม. 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)