สืบเนื่องจากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 65 ชี้แจงกรณีเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมเข้าตรวจค้นสถานที่พำนักกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทย ลงวันที่ 22 ธ.ค. 65 ซึ่งปรากฏข่าวกล่าวหาว่า สิ่งของที่มีการตรวจยึดนั้นนำส่งพนักงานสอบสวนไม่ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีข้อสั่งการให้กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาครายงานข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณา และต่อมาปรากฏข่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บก.ปปป.ตร.) ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยกล่าวหาว่ามีการอนุมัติให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษที่เป็นข่าวเข้าร่วมตรวจค้นดังกล่าว เดินทางไปราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น

ฉาวอีก! ‘อัจฉริยะ’ หอบหลักฐานจี้ ‘บิ๊กเด่น’ เชือด ‘191-ดีเอสไอ’ รับสินบนแก๊งมังกร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ชี้แจงความคืบหน้า ว่า กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาคได้รายงานข้อเท็จจริงในการร่วมปฏิบัติหน้าที่ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว สาระสำคัญในวันดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการสายตรวจและปฎิบัติการพิเศษ (191) เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจในการเข้าตรวจค้นตามหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ประสานงาน ตามที่ได้รับการร้องขอจากสถานกงสุลใหญ่นูอูรูประจำประเทศไทย โดยในการปฏิบัติมีเจ้าพนักงานตำรวจเข้าร่วมปฏิบัติการ 12 นาย และเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ช่วยเหลือและประสานงาน 3 นาย รวมทั้งหมด 15 นาย เจ้าพนักงานตำรวจมีการจับกุมผู้ต้องหาสัญชาติจีนพร้อมยึดทรัพย์สิน 12 รายการ นำส่งพนักงานสอบสวนนครบาลทุ่งมหาเมฆดำเนินคดี ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ มีการบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานด้วย ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงเข้าร่วมปฎิบัติงานในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจและผู้ประสานงาน ตามที่สถานกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทยร้องขอเท่านั้น

กรมสอบสวนคดีพิเศษ แจงอีกว่า ล่าสุดสถานกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 28 ธ.ค. 65 ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รายงานผลการร่วมสังเกตการณ์ในการตรวจค้นจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจในเรื่องนี้ รายงานไม่พบว่าเห็นเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถือสัมภาระหรือสิ่งของใด ออกมาจากสถานที่ตรวจค้นจับกุมแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นการเดินทางไปราชการนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏข้อเท็จจริงว่าชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีข้าราชการทั้งสามรายที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 ตรวจค้นบ้านพักกงสุลใหญ่ฯ รวมอยู่ด้วยได้มีบันทึก ลับ ลงวันที่ 16 ธ.ค. 65 ขออนุมัติเดินทางไปปฏิบัติราชการ เพื่อปฏิบัติงานด้านการข่าวในภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 20 ธ.ค. 65 ถึงวันที่ 20 ม.ค. 66 โดยในข้อ 5 ของบันทึกดังกล่าว ได้กล่าวถึงกรณีที่ข้าราชการในคำสั่งมีภารกิจทับซ้อนกัน ขอให้ข้าราชการที่อยู่ในชุดปฏิบัติการที่ได้รับมอบหมายภารกิจอื่นที่ทับซ้อนในห้วงเวลาดังกล่าว สามารถขออนุมัติ และเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจค้นบ้านพักกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทย เป็นไปโดยโปร่งใส อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มีคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 1650/2565 ลงวันที่ 28 ธ.ค. 65 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ทั้งนี้ เมื่อผลการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ หากกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่ามีผู้กระทำความผิด จะเสนอให้มีการพิจารณาลงโทษโดยเด็ดขาด และจะแจ้งให้ผลการดำเนินการให้สาธารณชนทราบต่อไป.