เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 องค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐ (NASA) ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์ทางการว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์กรค้นพบดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวเคราะห์โลก โดยมีวงโคจรรอบดาวฤกษ์ในระบบ ซึ่งมีระยะห่างที่พอเหมาะ มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้น้ำคงสถานะเป็นของเหลวอยู่บนพื้นผิวและเอื้อต่อการใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้

ดาวเคราะห์ดังกล่าวมีชื่อว่า TOI 700 e หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ดาวเคราะห์อี’ (Planet e) เป็นส่วนหนึ่งระบบดาว TOI 700 มีขนาดประมาณ 95% ของโลก หรือเล็กกว่าโลกเล็กน้อย และจากข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมสำรวจ TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) ดาวดวงนี้มีสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยหินเสียส่วนใหญ่ และใช้เวลา 28 วันในการโคจรรอบดาวฤกษ์ TOI 700 ที่เป็นศูนย์กลางของระบบ 

เอมิลี กิลเบิร์ต นักวิจัยหลังปริญญาเอกของศูนย์ปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นในเครือของนาซา  ซึ่งเป็นผู้นำทีมสำรวจครั้งนี้กล่าวไว้บนเว็บไซต์ของนาซา ว่า ระบบดาวนี้เป็นหนึ่งในระบบดาวพร้อมกับดาวเคราะห์ที่โคจรรอบ ๆ ที่มีการสำรวจพบ และมีจำนวนอยู่ไม่มากนัก

ก่อนหน้านี้ นาซา เคยค้นพบดาวเคราะห์อีก 3 ดวงในระบบดาวแห่งเดียวกัน มีชื่อว่า ดาวเคราะห์ TOI 700 b, TOI 700 c และ TOI 700 d ซึ่งโคจรอยู่ในระยะที่เหมาะจะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้เช่นกัน

กิลเบิร์ต กล่าวว่า ดาวเคราะห์อีมีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์ดีประมาณ 10% เป็นการแสดงให้เห็นว่าดาวเทียม TESS สามารถช่วยให้เราค้นพบดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ

พอล เฮิร์ตซ์ ที่ปรึกษาอาวุโสของคณะบริหารโครงการภารกิจด้านวิทยาศาสตร์สหรัฐ เคยให้ข้อมูลไว้ในปี 2563 ว่า ดาวเทียม TESS ได้รับการออกแบบและถูกส่งไปยังอวกาศโดยมีจุดประสงค์เพื่อค้นหาดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์โดยเฉพาะ

อนึ่ง ดาวฤกษ์ TOI 700 จัดอยู่ในประเภทดาวแคระแดง ที่อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 100 ปีแสง

แหล่งข่าว : abcnews.go.com

เครดิตภาพ : NASA