เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปคม. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผกก.ฝ่าย 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร พ.ต.ต.จักรี นารีผล สว.กก.สวัสดิภาพเด็กและสตรี บช.น. นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์และการเฝ้าระวังภัยเด็กหาย

นายเอกลักษณ์ เปิดเผยว่า สถิติรับแจ้งเด็กหายของมูลนิธิฯปี 2565 มีทั้งสิ้น 251 ราย เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 4 ปี โดยสูงกว่าปี 2564 ถึง 25% สาเหตุหลักกว่า 61% มาจากเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน รองลงมาคือกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่า 21% และมีเด็กถูกลักพาตัว 2 ราย ซึ่งช่วงอายุเฉลี่ยของเด็กที่หายออกจากบ้าน มากที่สุดพบว่าอายุ 11-15 ปี รวม 157 ราย มีสาเหตุมาจากเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาต้น ที่เป็นช่วงวัยรุ่นหัวเลี้ยวหัวต่อ มีสังคมเพื่อน และเป็นวัยที่เข้าถึงเทคโนโลยี และมีแรงขับทางเพศตามธรรมชาติ รองลงมาอายุ 16-18 ปี รวม 67 ราย และช่วงแรกเกิดถึงสิบขวบ รวม 28 ราย

นายเอกลักษณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่มีเด็กสูญหายออกจากบ้านมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 70 ราย นนทบุรี 17 ราย สมุทรปราการ 17 ราย ปทุมธานี 16 ราย ชลบุรี 9 ราย และนครปฐม 9 ราย ซึ่งการติดตามตัวค่อนข้างทำได้ยาก แต่ก็สามารถใช้สายรัดข้อมือที่มีข้อมูลส่วนบุคคลและบอกตำแหน่งที่อยู่เป็นเบาะแสติดตามตัวคนหายที่ไม่สมัครใจกลับคืนมาได้

พล.ต.ต.ศารุติ กล่าวว่า ภัยเด็กหายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมทั่วโลก โดยในประเทศไทย แม้ว่า เด็กหายส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้านก็ตาม แต่ท้ายสุดแล้ว เมื่อมีการแจ้งความเด็กหายมายังตำรวจ เราจะถือว่า ทุกกรณีมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะการที่เด็กก้าวเท้าออกจากบ้าน ย่อมเกิดอันตรายได้รอบด้าน ทั้งสวัสดิภาพและความปลอดภัย อาจเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาผลประโยชน์กับเด็ก การมีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อันนำมาซึ่งปัญหาสังคมในด้านอื่น ตลอดจนอาจตกเป็นผู้เสี่ยงหายจากการถูกค้ามนุษย์

พ.ต.ต.จักรี กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา กก.ดส.บช.น. บก.ปคม. และมูลนิธิฯ ได้ให้การช่วยเหลือ เด็กชายจีโอ ที่ถูกคนร้ายชักชวนไปกินขนมและเที่ยวเล่น จนเด็กเกิดความไว้วางใจ ก่อนพาไปเร่ขอทานในสถานที่สาธารณะ ซึ่งกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่สามารถให้การช่วยเหลือหลังจากรับแจ้งได้ไม่นาน ทันท่วงที เพราะหลายฝ่ายร่วมมือกันทำงานในทุกมิติ อย่างไรก็ตาม ขอเตือนผู้ปกครองในการเฝ้าระวังเด็ก โดยเฉพาะช่วงอายุ 4-8 ขวบ ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากการที่ผู้ปกครองปล่อยเด็กวิ่งเล่นตามลำพัง แม้ว่าบริเวณที่เด็กวิ่งเล่น จะคุ้นเคยอยู่มาตั้งแต่เด็ก ผู้ก่อเหตุก็อาจจะใช้โอกาสนี้ เข้ามาตีสนิทพูดคุยกับเด็กเมื่อเด็กอยู่ตามลำพัง นอกจากนี้ ผู้ก่อเหตุบางราย เช่น กรณีน้องจีโอ ยังไปหลอกเด็กตามร้านเกม ให้เงินเด็กในการเล่นเกมเพื่อหลอกล่อและเด็กตายใจ

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า กองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่ใช้กระบวนการวาดภาพสเกตช์เด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน (Age Progression) โดยใช้หลักสากลคือเด็กหายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังตามหาไม่พบ จะทำการสเกตช์ภาพเพิ่มอายุ ทุก 2 ปี ส่วนเด็กหายที่มีอายุเกิน 18 ปี จะทำการสเกตช์ภาพทุก 5 ปี ซึ่งช่วงเวลาเหล่านั้น จะเป็นช่วงเวลาที่ลักษณะใบหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ภาพสเกตช์ในส่วนนี้ จะใช้ภาพเดิมประชาสัมพันธ์คู่กัน เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เพิ่มโอกาสให้พลเมืองดีจดจำคนหายได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันได้สเกตช์ภาพเด็กหายร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา มากกว่า 10 ราย

ขณะที่ พล.ต.ต.ศารุติ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับวันเด็กที่จะถึงนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากประชาสัมพันธ์ยังผู้ปกครอง เพื่อป้องกันเด็กสูญหายพลัดหลงในงานวันเกิด 1.ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า 2.ให้ถ่ายรูปล่าสุด พร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน 3.ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้ 4.สอนลูก หากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ให้ใครช่วยเหลือ 5.สอนลูก หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป พร้อมตะโกนให้คนช่วย ทั้งนี้ หากเกิดการสูญหาย หากค้นหาในบริเวณงานแล้วยังไม่พบตัว ให้โทรฯ แจ้ง 1191 หรือ แจ้งความเด็กหายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอครบ 24 ชม.