ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมสื่อมวลชนและคณะผู้เกี่ยวข้อง ลงเรือชมหิ่งห้อย ที่คลองลำน้ำท่าว้า บริเวณหมู่ 3 และหมู่ 9 บ้านสังฆจายเถร ต.สวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

โดย ดร.อุดม เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้เดินทางสำรวจพื้นที่ในหลายตำบล เพื่อจะนำปัญหาต่างๆ ที่กระทรวงทรัพยากรฯ รับผิดชอบไปหาทางแก้ไขปัญหาหลักๆ ก็จะเป็นสิ่งแวดล้อม เมื่อเดินทางไปสำรวจในพื้นที่ลำคลองท่าว้าแห่งนี้ ปรากฏว่าได้เจอหิ่งห้อยจำนวนมาก ส่องแสงเรืองรองสวยงามน่าสนใจ ตนเชื่อว่าน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในภาคกลางคืนให้กับจังหวัดสุพรรณบุรีได้เป็นอย่างดี เพราะ จ.สุพรรณบุรี การท่องเที่ยวในภาคกลางวันมีครบถ้วนอยู่แล้ว เช่นเส้นทางไหว้พระ 9 วัด หรือสิ่งมหัศจรรย์ที่ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำไว้คือ อุทยานมังกรสวรรค์ หอคอยสวนเฉลิมภัทรราชินี และบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติฯ

นอกจากนี้ ยังมีทัวร์ไหว้พระวัดสำคัญ เช่นวัดป่าเลไลยก์ พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ (หลวงพ่ออู่ทอง) พุทธมณฑลประจำ จ.สุพรรณบุรี และยังมีเกจิอาจารย์อีกหลายวัด เช่นหลงพ่อสมบุญ วัดลำพันบอง หลวงพ่อเนียมวัดน้อย หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว เป็นต้น การพัฒนาจะให้สำเร็จได้ประชาชนในพื้นที่ต้องให้ความร่วมมือด้วย

“ผมได้เชิญผู้นำท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่มาร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางพัฒนาให้เป็นท่องเที่ยวสำคัญ ของ จ.สุพรรณบุรี ประชาชนส่วนมากจะรับทราบดีว่ามาเที่ยวสุพรรณบุรี กลางวันก็มาเที่ยวกันมากแล้ว ไม่รู้ว่ากลางคืนจะเที่ยวอะไรต่อจึงเดินทางกลับ ตรงนี้ทำให้เม็ดเงินในภาคกลางคืนหายไป รวมทั้งธุรกิจภาคโรงแรม ร้านอาหาร ซบเซา จึงเชื่อว่าการพัฒนาแหล่งดูหิ่งห้อยที่สุพรรณบุรี อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย จะเป็นทางเลือกใหม่ของการท่องเที่ยวในภาคกลางคืนให้กับประชาชนทั่วประเทศ”

ที่ปรึกษา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ดังนั้นถ้าเราพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ ให้เกิดขึ้นมาได้ ตนมั่นใจว่าเศรษฐกิจของ จ.สุพรรณบุรี จะกลับมารุ่งเรือง และฟื้นฟูในภาคกลางคืนได้ รวมทั้งภาคธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ โฮมสเตย์ รีสอร์ทต่างๆ ในโซนของ ต.สวนแตง และตำบลใกล้เคียง สำหรับแผนพัฒนาลำน้ำท่าว้าแห่งนี้ ได้ร่วมกับวัดสังฆจายเถร ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน วางแนวทางการพัฒนาแม่น้ำท่าว้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.สุพรรณบุรี

“จริงๆ หิ่งห้อยที่บริเวณดังกล่าวมีมานานแล้ว แต่พวกเราที่อยู่ในพื้นที่ และเคยชินกับหิ่งห้อยจึงเห็นเป็นเรื่องปกติ เมื่อธรรมชาติสร้างสรรค์มาให้ จ.สุพรรณบุรี เราต้องรีบไขว่คว้า ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชน ที่ให้ความสนใจในการมาสำรวจพื้นที่ในครั้งนี้” ดร.อุดม กล่าวทิ้งท้าย.