เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่กระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยผลสอบฯ ว่า จากการตรวจสอบประเด็นความเหมาะสมของขอบเขตงาน และราคากลางโครงการฯ ตามที่ รฟท. กำหนดมูลค่างาน 33,169,726.39 บาท ทั้งจากการพิจารณาเอกสารหลักฐาน และการชี้แจงของ รฟท. ด้วยวาจา รวม 3 ครั้ง พบว่า ไม่พบสิ่งผิดปกติใด และเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ซึ่ง รฟท.อาจทบทวน เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ และประหยัดงบประมาณของ รฟท.ได้มากที่สุด

นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.รฟท. อาจทบทวนรายละเอียด ทั้งในส่วนของวัสดุ เทคนิค ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การออกแบบ เลือกใช้วัสดุ และวิธีการจัดทำ และติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดทำ เทียบกับติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งก่อน ทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน จำนวนและเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้ง

2.รฟท. อาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบัน มาปรับปรุงเพื่อใช้ติดตั้งแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตัวอักษรยังอยู่ในสภาพยังดี และสามารถนำมาปรับปรุงเหมือนกับตัวอักษรใหม่ได้ และ 3.รฟท. อาจทบทวนค่างานออกแบบ ที่น่าจะสามารถกำหนดอัตราส่วนของราคางานได้ต่ำกว่างานปกติ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ออกแบบไว้เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งการทบทวนงานเผื่อเลือก (Provisional Sum) ที่กำหนดไว้อยู่ที่ 1,627,662.60 บาท ซึ่งอาจสามารถปรับลดได้ เช่น การทบทวนความจำเป็นที่จะต้องมีวัสดุมาปิดไว้ทดแทนกระจกในขณะที่มีการรื้อถอน เนื่องจากงานดำเนินการในช่วงฤดูหนาว และอาคารสถานีบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระจกอยู่แล้ว เป็นต้น

นายสรพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงนั้น จากการตรวจสอบ คณะกรรมการฯ เห็นว่า แม้ว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ รฟท. ตามนัย มาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริการพัสดุ พ.ศ. 2560 จะเป็นการใช้ดุลพินิจตีความระเบียบกฎหมายในกรอบอำนาจหน้าที่ โดยอาศัยเหตุและผลความจำเป็นตามที่เข้าใจ และ รฟท. ได้ชี้แจงมาข้างต้นไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ก็สมควรหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพัสดุกรมบัญชีกลางให้ชัดเจน นอกจากนี้ รฟท. ควรศึกษาทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสมรอบคอบ และสอดคล้อง กับ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 โดยอาจพิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักการของกฎหมาย ที่เห็นควรให้ใช้วิธีการพิจารณาเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปเป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง       

ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ขณะเดียวกันเห็นควรให้ รฟท. พิจารณาทบทวนตรวจสอบกระบวนการสืบราคาให้เกิดความครบถ้วนชัดเจน และดำเนินการให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางการประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลาง และการคำนวณราคากลางเกี่ยวกับการขอจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0433.2/ว206 ลงวันที่ 1 พ.ค.62 ตามขั้นตอนต่อไป

นายสรพงศ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รายงานผลสอบฯ เสนอ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พิจารณาแล้ว ขณะเดียวกันภายใน 1-2 วันนี้ คณะกรรมการฯ จะส่งรายงานผลสอบ พร้อมข้อเสนอแนะเพิ่มเติมไปยัง รฟท. ซึ่งหลังจากนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ในฐานะผู้จัดซื้อจัดจ้าง ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไรต่อไป และตามปกติเมื่อ รฟท. พิจารณาแล้ว ต้องรายงานกลับมายังกระทรวงคมนาคมว่าจะปฏิบัติตามข้อแนะนำเพิ่มเติมหรือไม่ด้วย

ต่อข้อถามว่า ประเด็นข้อเสนอที่คณะกรรมการฯ ให้ทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้วิธีการเชิญชวนทั่วไปเป็นลำดับแรกจะกระทบกับการลงนามสัญญาว่าจ้างที่ได้ดำเนินการกับเอกชนไปแล้วหรือไม่ นายสรพงศ์ กล่าวว่า รฟท. ต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะทบทวนตามข้อเสนอหรือไม่ ซึ่งคงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และต้องไม่ให้มีผลกระทบทางกฎหมาย ส่วนกรณีที่ รฟท. ระบุว่า กระทรวงคมนาคมเป็นผู้เร่งรัดให้ดำเนินโครงการฯ นั้น การเร่งรัดเป็นเรื่องปกติที่ทุกหน่วยงานต้องเร่งดำเนินการอยู่แล้ว แต่การเร่งดำเนินการต้องให้สอดคล้องกับระเบียบกฎหมาย และตามหลักธรรมาภิบาล