เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) กล่าวถึงเกี่ยวกับข้อกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าเนื่องจากเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ ว่า โดยตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำผ่านเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น ผู้ที่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าจึงมีความผิดฐานรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงข้อกำจัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 244 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 วางหลัก ให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ เนื่องจากเป็นการนำสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายโดยการสูบ ดังนั้น หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ ก็จะมีความผิดฐาน สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท

ผู้สื่อข่าวถามว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ที่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าหรือกำลังสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้หรือไม่ พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า คือต้องอธิบายแบบนี้ก่อนว่ามีประกาศจากกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และ พ.ศ. 2559 แต่พอมีข้อห้ามก็จะมาผิดในข้อหาเรื่องการครอบครอง ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 246 ประกอบมาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งอัตราโทษเป็นคดีในอำนาจของศาลอาญา พนักงานสอบสวนก็ต้องทำสำนวนส่งฟ้อง ไม่สามารถมาเปรียบเทียบปรับที่โรงพัก ที่ด่าน หรือที่อื่นๆได้ ยกเว้นแต่ผู้ต้องหายินยอม ตำรวจชุดจับกุมก็จะส่งตัวไปทำตามเปรียบเทียบปรับที่กรมศุลกากรได้

“ถ้าขายก็จะผิดกฎหมายอีกตัว ตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีคำสั่งเรื่องห้ามขายหรือให้บริการสินค้าบารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่และน้ำยาบารากู่ไฟฟ้า กฎหมายบังคับทั้งตัวบุหรี่ ตัวเครื่อง และก็ตัวน้ำยาด้วย ถ้าฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท โดยปกติเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำสำนวนสั่งฟ้องทั้งหมด ส่งให้อัยการ ส่งศาล ก็จะพิจารณาพิพากษาตามบทหนักสุด” ผบช.กมค. กล่าว

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวอีกว่า อยากขอฝากไว้ว่าเมื่อกฎหมายยังมีสภาพบังคับใช้อยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังต้องบังคับตามกฎหมาย แต่หากสภาพสังคมหรือประชาชนเห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายในอนาคต ก็เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายหรือทางสภาต่อไป และก็อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่าประเทศปลายทางนั้น สิ่งใดสามารถนำเข้ามาในประเทศได้ หรือสิ่งใดนำเข้ามาในประเทศไม่ได้ เป็นการแจ้งเตือนให้นักท่องเที่ยวทราบเพื่อป้องกันการกระทำความผิดในประเทศปลายทาง