นายทยากร จันทรางศุ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ขร. อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ และประมวลผลการตรวจสอบความพร้อม และประเมินผลด้านความปลอดภัยของรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) เพื่อจัดทำรายงานเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป ทั้งนี้รถไฟฟ้า APM จะให้บริการรับส่งผู้โดยสาร เชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT 1) ระยะทางต่อเที่ยวประมาณ 1 กิโลเมตร (กม.) เบื้องต้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณเดือน ก.ย. 66

นายทยากร กล่าวต่อว่า จากการที่ ขร. ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ทอท. ได้ดำเนินการแก้ไขตามข้อสังเกต และคำแนะนำของ ขร. เมื่อครั้งที่ ขร. ได้ลงพื้นที่มาตรวจก่อนหน้านี้ อาทิ ช่องว่างระหว่างขบวนรถกับชานชาลา ได้ปรับลดช่องว่างเหลือน้อยลงให้ได้ตามมาตรฐานสากลที่ต้องน้อยกว่า 5 เซนติเมตร (ซม.) โดยเหลือประมาณ 3 ซม. นอกจากนี้ยังติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ครบเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น ราวจับ อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนมีการจัดทำแผนการอพยพ แผนฉุกเฉิน และแผนอัคคีภัยครบพร้อมให้บริการ ซึ่งเรื่องความไม่ปลอดภัยเมื่อประชาชนมาใช้บริการจึงไม่น่าเป็นห่วง      

นายทยากร กล่าวอีกว่า ก่อนการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า APM ทาง ขร. จะลงพื้นที่มาตรวจสอบความพร้อมรายละเอียดในทุกด้านของการให้บริการอีกครั้ง อย่างไรก็ตามสำหรับแผนการเดินรถไฟฟ้า APM นั้น เบื้องต้นแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ 1.ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน (peak), 2.ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเป็นพิเศษ (surge peak) โดยจะเกิดขึ้นวันละประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่เที่ยวบินเข้าและออกพร้อมๆ กันจำนวนมาก และ 3. ช่วงปกติ (off peak) โดยตารางเวลา และความถี่ในการให้บริการแต่ละช่วงนั้น จะมีการประเมินร่วมกับสายการบินต่างๆ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟฟ้า APM หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ เป็นรถไฟฟ้าล้อยาง รุ่น Airval ทางบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ผู้ผลิตรถ ได้ทยอยจัดส่งรถไฟฟ้า APM จากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย มายังประเทศไทยจนครบทั้ง 6 ขบวน 12 ตู้แล้ว เมื่อเดือน ก.ค. 64 สำหรับรถไฟฟ้า APM ใช้ความเร็วการทำงานสูงสุดที่ 80 กม. ต่อชั่วโมง (ชม.) สามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 210 คนต่อขบวน หรือประมาณ 6,000 คนต่อ ชม. ใช้เวลาประมาณ 2 นาทีต่อเที่ยว

โดย ทสภ. ถือเป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศไทยที่ให้บริการรถไฟฟ้า APM มาให้บริการรับส่งผู้โดยสารฟรีภายในสนามบิน ซึ่งจะให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง มี 2 สถานี ได้แก่ สถานีอาคาร SAT 1 และสถานีอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ยังไม่เปิดให้บริการ ทอท. จะนำขบวนรถไฟฟ้า APM มาสลับกันทดสอบเดินรถอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเปิดบริการ เพื่อให้ระบบมีความเสถียร แม่นยำ ตรงต่อเวลา ปลอดภัย และพร้อมใช้งานทันทีเมื่อเปิดให้บริการ.