กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในสังคมไทยกันเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ สำหรับ “ปลาหยก หรือ ปลาเก๋าหยก” หลังต้องพับเสื่อเก็บบูธกลางงานเกษตรแฟร์ 2566 ทั้งที่เพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก จนทำเอาหลายๆ คน เกิดความสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้ว “ปลาหยก” เป็นอย่างไรนั้น..
-ม้วนเดียวจบ ‘ปลาหยก’ วากิวแห่งสายน้ำ จากงานเกษตรแฟร์ สู่ดราม่าระอุ!

สำหรับ “ปลาเก๋าหยก หรือ Jade Perch” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scortum barcoo เป็นปลาน้ำจืด ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา แต่ต่อมามีการแพร่พันธุ์ไปที่ออสเตรเลีย และถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปลากรันช์จากแม่น้ำบาโค” (Barcoo grunter) ซึ่งเป็นแม่น้ำในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย และได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แต่เนื่องจากชื่อไม่เหมาะจะนำมาเป็นเครื่องหมายการค้า จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “เจดเพิร์ช หรือปลาเพิร์ชหยก เนื่องจากมันมีลำตัวที่มีสีเหลือบเขียว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ “เก๋าหยก” เมื่อนำเข้ามาขายในไทย เพื่อให้คนไทยเรียกได้ง่ายขึ้น และถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “ปลาหยก” ในที่สุด

สำหรับ “ปลาหยก” มีลักษณะรูปร่างที่โค้งมน มีหัวขนาดเล็ก หัวและหลังโค้ง ท้องมีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนกลม เกล็ดละเอียด สามารถเพาะเลี้ยงได้ง่าย เพราะเป็นปลาที่แข็งแรง สามารถเติบโตได้เร็วในภูมิอากาศกึ่งเขตร้อนถึงเขตร้อนปานกลาง โดยเติบโตจนถึงพร้อมขายได้ภายในเวลา 6-10 เดือน ซึ่งตั้งแต่เกิด ก็พร้อมผสมพันธุ์ได้ในปีเดียว!

ในด้านอาหารที่กินนั้น ต้องขอบอกว่า “ปลาหยกกินเกือบทุกอย่าง!” ซึ่งในธรรมชาติ พวกมันกินแพลงตอนได้เกือบทุกชนิด แล้วก็ยังสามารถกินปลา กุ้งขนาดเล็ก ไส้เดือน ขนมปัง ก็กินได้หมด

ส่วนเรื่องรสชาตินั้น เนื้อขาวนุ่มค่อนข้างแน่นและเป็นขุยน้อย หนังบาง มีไขมันแทรกในเนื้อ มีรสหวาน ก้างน้อย ซึ่งถ้าหากย้อนไปดูข้อมูลจาก องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งความมั่งคั่งร่วมกันของออสเตรเลีย (CSIRo) ในปี 2541 ก็เคยระบุด้วยว่า ในบรรดาอาหารทะเลทั้งหมด 200 สายพันธุ์ ที่ทดสอบนั้น ผลปรากฏว่า “ปลาหยก” มีคุณค่าทางโภชนาการมาก โดยพบว่ามีโอเมก้า 3 ในระดับที่สูงสุด มักนิยมนำไปนึ่งให้สุกก่อนรับประทาน และไม่สามารถกินแบบดิบได้ โดยในประเทศไทยนั้น พบมีราคาค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 โดยกรมประมง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ

สำหรับสัตว์น้ำ ทั้ง 13 ชนิด ได้แก่
ชนิดปลา
1. ปลาหมอสีคางดำ
2. ปลาหมอมายัน
3. ปลาหมอบัตเตอร์
4. ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม
5. ปลาเทราท์สายรุ้ง
6. ปลาเทราท์สีน้ำตาล
7. ปลากะพงปากกว้าง
8. ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช
9. ปลาเก๋าหยก
10. ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม

ชนิดสัตว์น้ำอื่นๆ
1. ปูขนจีน
2. หอยมุกน้ำจืด
3. หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล

ทั้งนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ใดปล่อยสัตว์น้ำทั้ง 13 ชนิด ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พ.ร.ก.การประมง 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากใครจับได้ตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติ หรือหลุดเข้าไปในบ่อหรือแหล่งเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา สามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ต้องทำให้ปลาตายเสียก่อน..