นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้ประสานความร่วมมือไปยังกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้กองจัดการคุณภาพอากาศ และเสียง ลงพื้นที่ดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) ในพื้นที่ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ระหว่างวันที่ 23 ม.ค.-1 ก.พ. 66 จำนวน 2 จุดได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณชานชาลาที่ 8 ชั้น 2 และจุดที่ 2 บริเวณจุดพักรอของผู้โดยสารชั้น 1 เพื่อติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละอองของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตามที่มีข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น เกี่ยวกับประเด็นฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นบริเวณชานชาลา ชั้น 2 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

นายเอกรัช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองได้ดำเนินการเสร็จสิ้น และรายงานผลการตรวจวัดมายัง รฟท. แล้ว โดยพบว่า ผลการตรวจวัดฝุ่นละอองฯ เบื้องต้น บริเวณจุดที่ 1 บริเวณชานชาลาที่ 8 ชั้น 2 มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของ PM 10 อยู่ในช่วง 35-97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่มีค่ามาตรฐานในบรรยากาศไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM 2.5 อยู่ในช่วง 18-60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยส่วนใหญ่อยู่ในค่ามาตรฐานบรรยากาศ ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่จะมีเกินค่าเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะวันที่ 31 ม.ค. 66 เท่านั้น

ส่วนจุดที่ 2 บริเวณจุดพักรอของผู้โดยสารชั้น 1 พบค่าเฉลี่ย  24 ชั่วโมง ของ PM 10 อยู่ในช่วง 6-37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่าเฝ้าระวังตามประกาศของกรมอนามัย ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM 2.5 อยู่ในช่วง 4-25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่าเฝ้าระวังตามประกาศของกรมควบคุมมลพิษ ที่ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม รฟท. ได้เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดพื้นที่ ทั้งในส่วนของอาคารโดยสาร และบริเวณชานชาลา สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ รวมถึงเฝ้าระวังฝุ่นละอองจากรถไฟในบริเวณชานชาลา เพื่อลดการสะสม และการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองในพื้นที่ และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมมลพิษดังอย่างเคร่งครัด

นายเอกรัช กล่าวด้วยว่า รฟท. โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. ให้ความสำคัญ และรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ ของประชาชน ซึ่งได้สั่งการให้นำทุกข้อคิดเห็นมาพัฒนาปรับปรุงในทุกเรื่อง เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก ปลอดภัย และพึงพอใจสูงสุดในการใช้บริการรถไฟ โดยในส่วนของปัญหาฝุ่นควันบริเวณชานชาลานั้น ในอนาคต รฟท. มีแผนงานจะลดปัญหาการเกิดฝุ่น และควันอย่างยั่งยืน ด้วยการเร่งดำเนินการนำหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train มาใช้งานภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป.