เมื่อวันที่ 28 ก.พ. พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Ittaporn Kanacharoen เกี่ยวกับเรื่องราวการเรียนแพทย์ที่ต่างประเทศ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง โดยระบุว่า

“อยากเรียนแพทย์ที่ต่างประเทศ..ต้องดูอะไรบ้าง?”

Q ถาม :ลุงหมอครับ ผมอยากไปเรียนแพทย์ที่ต่างประเทศ ต้องดูอะไรบ้างครับ?

ลุงหมอตอบ : เป็นคำถามที่ดีมากครับ เพราะช่วงนี้จะมีเอเจนซี่จากโรงเรียนแพทย์ต่างประเทศหลายแห่ง ไปโฆษณาในกลุ่มนักเรียน เพื่อเชิญชวนไปเรียนในประเทศของตนเอง และ อาจอ้างอิงว่าได้ การรับรองจากแพทยสภาแล้ว ซึ่งผู้ปกครองถามมาบ่อยๆ ครับ

ในแต่ละปีจะมีเด็กนักเรียนไทยไปเรียนที่ต่างประเทศจำนวนมาก และส่วนหนึ่งไปเรียนแพทยศาสตรบัณฑิต โดยมุ่งหวังกลับมาสอบใบอนุญาตประเทศไทย น้อยรายที่จะอยู่ต่างประเทศเลย จึงต้องทราบขั้นตอนประเทศไทย ครับ การตัดสินใจไปเรียนนั้น ลุงหมอแนะนำว่าให้แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ที่จะพิจารณาครับคือนับ 1 ถึง 3 ก่อน

นับ 1. ต้องมั่นใจว่า ตัวน้อง ชอบ และมุ่งมั่น ในการเรียนแพทย์ เพื่อที่จะ ฝ่าฟันอุปสรรคจนเรียนได้ครบตามหลักสูตร เพราะการเรียนในต่างประเทศนั้น จะต้องทั้งปรับตัว เข้ากับพื้นที่ ปรับตัวเข้ากับภาษา ขนบธรรมเนียม อยู่ห่างไกลบ้าน แม้เป็นหลักสูตรอินเตอร์ ก็จำเป็นต้องรู้ภาษาของประเทศนั้นในการคุยกับคนไข้ และต้องทราบว่าขั้นตอน ต้องกลับมาฝึกในเมืองไทย ถ้าจะกลับมาสอบเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของไทยซึ่งต้องมีอีก 3 ขั้นตอน ซึ่งจะยากกว่าการเรียนแพทยศาสตร์ในประเทศไทย เพราะต้องแปลงจากภาษาที่น้องเรียน มาเป็นภาษาที่ใช้สอบคือภาษาอังกฤษ ปัจจุบันมีกลับมาสอบทั้งได้และไม่ได้จำนวนมาก ขึ้นกับทั้งมหาวิทยาลัยที่น้องเลือก จะมีหลักสูตรการสอนที่มาตรฐานมากเท่าใด และน้องตั้งใจรับความรู้ได้มากน้อยเท่าไร เป็นความสามารถเฉพาะตัวด้วยครับ

นับ 2. คณะแพทยศาสตร์ปัจจุบัน ที่มีการสอน ในหลายประเทศ มีทั้งมาตรฐานและความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน แนะนำให้ตรวจสอบที่ซึ่งขอรับรองโดยแพทยสภาแล้วเท่านั้น ซึ่งผมมีรายชื่อให้ดูในไฟล์ภาพ ครับ หรือจะดูที่เว็บไซต์ได้โดยตรง https://www.tmc.or.th/foreign_med.php

กรณีน้องไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ไม่มีการรับรอง จะต้องกลับมาทำการรับรองมหาวิทยาลัย ก่อนจึงจะสอบได้ ซึ่งไม่ใช่ทุกที่ที่จะได้รับการรับรองครับ และมีขั้นตอนมาก แนะนำให้ดูจากรายชื่อ ที่ผ่านการรับรองแล้วซึ่งปัจจุบันก็มีจำนวนมากครับ และดูว่ารับรองถึงปีไหนด้วยนะครับ เพราะจะแสดงว่าแพทยสภาได้ตรวจสอบ แล้วและมีการสื่อสารระหว่างประเทศไทยกับประเทศของเขา เพื่อคุ้มครองน้องๆ แล้ว เราไม่อยากให้คนไทยพลาดไปเรียนแล้วกลับมาสอบไม่ได้ครับ

แน่นอนว่าทุกมหาวิทยาลัยจะมีความสามารถในการถ่ายทอดวิชาไม่เท่ากัน ตามลักษณะของแต่ละพื้นที่ ดีที่สุดคือตรวจสอบกับรุ่นพี่ที่จบมา หาข้อมูลก่อนครับ ว่าเขาเรียนและสอนเป็นอย่างไร จนมั่นใจก่อนแล้วค่อยสมัครนะครับ อย่าเอาแต่เพียงว่าประเทศนั้นเราชอบ หรือค่าเทอมราคาถูก เพราะว่าเมื่อไปเรียนแล้วการเปลี่ยนสาขาอีกครั้งลำบากมาก และถ้ามีรุ่นพี่รุ่นน้อง จะได้เปรียบในการกลับมาสอบมากกว่านะครับ ถ้าเป็นรุ่นแรก ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ต้องเตรียมใจให้ดี

นับ 3. คนสำคัญที่สุดคือผู้ปกครองครับ ที่ต้องดูแลรับผิดชอบน้องตอนไปเรียน รวมถึงค่าใช้จ่าย ที่แตกต่างกัน ในแต่ละประเทศ ไม่เพียงแต่ค่าเทอม รวมถึงค่ากินอยู่ด้วย ซึ่งต่างประเทศจะมีค่าเล่าเรียนแพงกว่าเราเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีงบประมาณรัฐบาลสนับสนุน และ เคยพบปัญหาว่าบางครอบครัวไม่สามารถส่งเรียนได้ตลอด ต้อง เปลี่ยนย้ายสาขาหรือประเทศ กลางคัน ดังนั้นต้องวางแผนให้ดีครับ โดยเฉพาะด้านการเงิน ตรวจสอบค่าใช้จ่ายให้ดีกับมหาวิทยาลัยเสียก่อน รวมถึงค่าครองชีพ ในประเทศนั้นๆ ด้วยครับ

การศึกษาแพทยศาสตร์ในประเทศปัจจุบัน แพทยสภาได้อนุมัติโรงเรียนแพทย์ทั้งสิ้น 25 มหาวิทยาลัย โดยมีโครงการที่หลากหลายเพื่อรองรับเด็กไทยให้กลับมาเป็นแพทย์ และเพิ่มจำนวนการรับถึงปีละ 3,000 คน โดยมีโรงเรียนแพทย์ภาครัฐ 21 แห่ง และภาคเอกชน 4 แห่ง

ขั้นตอนแรกก่อนไปเรียน โรงเรียนแพทย์ เอกชน ต่างประเทศลองพิจารณาโรงเรียนแพทย์ เอกชน ของไทยก่อนได้นะครับ ทั้งมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นครับ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย แพทยสภาจะตามไปดูแลน้องๆ ได้ง่ายกว่า

อีกประการจะเห็นได้ชัดในช่วงที่มีโควิด-19 บางประเทศปิดไม่สามารถกลับไปเรียนได้ทำให้เกิดการตกค้าง ทั้งติดอยู่ที่เมืองไทยและติดอยู่ที่ต่างประเทศกลับมาไม่ได้ ทำให้น้องจบล่าช้าและสอบไม่ทัน รวมถึงในประเทศบางแห่งที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น หรือร้อนจัด จะเป็นอุปสรรคที่น้องต้องศึกษาก่อนล่วงหน้า และต้องเตรียมใจ รับมือกับสิ่งที่น้องเลือก ดังนั้นการเลือก มีผลสำคัญมากครับ

อีกเรื่องคือภาษาที่ใช้สอบเป็นภาษาอังกฤษ กับภาษาไทย ถ้าน้องเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาหลักเป็นภาษาอื่น น้องจะต้องท่องจำมากกว่าคนอื่น และแปลภาษานั้นเป็นภาษาอังกฤษในการสอบ ซึ่งจะยากกว่าคนที่เรียนไทยกับอังกฤษโดยตรง ถ้าจะให้ง่ายต้องเลือกประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก จะปรับตัวน้อยกว่าครับ แต่ถ้าน้องเก่งภาษาเรื่องพวกนี้ไม่มีปัญหาครับ

นับ 1-3 ก่อนตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจแล้วขอให้ตั้งใจศึกษาในประเทศนั้นๆ อย่างจริงจังและเต็มที่ แล้วกลับมา เป็น แพทย์ฝึกหัด กับแพทยสภา และ สอบใบอนุญาตประเทศไทย ให้ได้ เพื่อมาช่วยกันดูแลคนไทยต่อไปนะครับ ขออวยพรให้น้องๆประสบความสำเร็จ ในการเลือกมหาวิทยาลัยที่ใช่และที่ชอบ ทุกคนครับ มีปัญหาปรึกษาได้ที่ฝ่ายฝึกอบรมและสอบตามเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ใน info เลยครับ ลุงหมออิทธพร เลขาธิการแพทยสภา 28.02.2566”..