เงินฝากเป็นการออมและการลงทุนขั้นพื้นฐานของทุกคน ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยงด้วยการได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งจะคุ้มครองธนาคารละ 1 ล้านบาท โดยจำนวนเงินฝากเป็นหนึ่งในเครื่องมือแสดงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเงินของผู้คนในแต่ละจังหวัดได้เช่นกัน

“ธนัชญา ปิยวรไพบูลย์” Economics Data Analytics, Bnomics ธนาคารกรุงเทพ เผยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ในปี 65 ประเทศไทยมีเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น 16.89 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน หนึ่งในสาเหตุมาจากคนส่วนใหญ่ในประเทศมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการปรับตัวสูงขึ้นของดอกเบี้ยเงินฝากตามธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง

ทั้งนี้ จากข้อมูลยังพบว่า 6 จังหวัดในภูมิภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มียอดเงินฝากในปี 65 สูงติด 1 ใน 10 อันดับ แสดงให้เห็นว่ามีความกระจุกตัวของเงินฝากที่ค่อนข้างสูงในคนกรุงเทพฯ และชุมชนเมือง ได้แก่

1.กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีเงินฝากมากที่สุด อยู่ที่ 10.58 ล้านล้านบาท
2.นนทบุรี เงินฝากรวม 586,002 ล้านบาท
3.สมุทรปราการ มีเงินฝาก 583,762 ล้านบาท
4.ชลบุรี มีเงินฝาก 551,649 ล้านบาท
5.ปทุมธานี มีเงินฝาก 345,482 ล้านบาท
6.เชียงใหม่ มียอดเงินฝากรวม 291,601 ล้านบาท
7.นครปฐม เงินฝาก 230,548 ล้านบาท
8.สมุทรสาคร มีเงินฝาก 196,036 ล้านบาท
9.สงขลา เงินฝากรวม 194,187 ล้านบาท
10.ระยอง มีเงินฝากรวม 190,014 ล้านบาท

“ชลบุรี มีการอัตราการเติบโตของเงินฝากมากที่สุด โดยจังหวัดชลบุรี มียอดเงินฝากของคนในจังหวัดเติบโตสูงสุด อยู่ที่ 6.6% รองลงมาเป็น จังหวัดสมุทรสาคร 5.05%, กรุงเทพฯ 4.78% และระยอง 4.58% แม้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ จะถูกจัดว่ามีเงินฝากสูงเป็นอันดับที่ 6 โดยอยู่ที่ 291,601 ล้านบาท เติบโตขึ้น 1.7% แต่จำนวนเงินฝากโดยรวมในภาคเหนือยังคงมีน้อยที่สุด”

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าในปี 66 เงินฝากในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งด้านของเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ ซึ่งนอกจากพฤติกรรมการฝากเงินของคนไทยจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละจังหวัดแล้วนั้น ยังสามารถนำข้อมูลมาดูในมิติเชิงลึกต่อได้ว่า เงินฝากที่เติบโตขึ้น มาจากคนกลุ่มไหนเป็นหลัก และมีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง ซึ่งเหล่านี้ Bnomics จะเล่าถึงในบทความถัดไป.

(ข้อมูลจาก Bnomics)