จากกรณีที่หน่วยงานทางการสหรัฐ ได้สั่งปิดธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank หรือ SVB) เป็นธนาคารสตาร์ทอัพแห่งสหรัฐ ถือว่าเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ของสหรัฐอีกครั้ง

เหตุการณ์ครั้งนี้ สืบเนื่องจาก SVB ได้ออกมาบอกว่าขายหลักทรัพย์ไปจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขาดทุน และจะขายเพิ่มทุนใหม่ 2,250 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมงบดุล ทำให้เกิดการตื่นตระหนกจนเกิดการแห่ถอนเงินออกจาก SVB แห่งนี้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่นอนคือดัชนีดาวโจนส์ปิดตัวลดลงทันทีที่ SVB ถูกสั่งปิด และลุกลามไปสู่ตลาดคริปโต ดูที่รุนแรงสุดจะเป็น USDC ที่ผูกค่าไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งล่าสุดราคา USDC ไม่ได้เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐอีกต่อไปแล้ว หลังจาก Circle ผู้ออกเหรียญ Stablecoin อย่าง USDC มีเงิน 3,300 ล้านดอลลาร์ จาก 4 หมื่นล้านดอลลาร์ฝากไว้กับ SVB ทำให้นักลงทุนกังวลอย่างหนักจนราคา USDC หลุดตรึงมูลค่ากับเงินดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย

ล่าสุด นักเศรษฐศาสตร์การเงินชื่อดังของไทย “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้โพสต์ลงบน Facebook พูดถึงในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ระบุว่า

มีข่าวตื่นเต้นในวงการธนาคาร เมื่อ SiliconValleyBank ธนาคารชื่อดังย่าน Silicon Valley ที่เป็นธนาคารหลักของ venture capital และ /startup หลายแห่งออกมาบอกนักลงทุนว่าไตรมาสก่อน ได้ขายพันธบัตรไป 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ! จนทำให้เกิดผลขาดทุนจากการขายตราสารหนี้ไป 1.8 พันล้านดอลลาร์ และต้องขายหุ้นเพิ่มทุน 2.25 พันล้านดอลลาร์!!

ทำเอานักลงทุนตกอกตกใจจนหุ้นธนาคาร Silicon Valley ร่วงไปกว่า 60% เกือบทันที และหลังปิดตลาดลงไปอีก 20% และคนฝากเงินเริ่มหวั่นไหวแห่กันถอนเงินออก และล่าสุดถูกทางการเข้าควบคุมเรียบร้อยแล้ว เรียกว่าปัญหาสองวันจบ….

ที่น่าสนใจคือ Silicon Valley Bank เป็นธนาคารที่ได้ชื่อว่าค่อนข้างระมัดระวังในการบริหาร มีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ค่อนข้างมาก ครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือ mortgage backed securities มีเงินสินเชื่อแค่หนึ่งในสาม NPL ค่อนข้างต่ำมาก (ต่ำกว่า 1%) และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากคุณภาพสินทรัพย์แบบปัญหาธนาคารอื่นๆ

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิด จากการที่เงินฝากเริ่มลดลงหรือโตช้า เพราะ venture capital ทั้งหลายเริ่ม raise เงินยากขึ้น และกระแสเงินสดของ VC และบริษัท startup ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารเริ่มมีน้อยลง เพราะ cashburn

จนเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง จนต้องเริ่มขายสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น ตราสารหนี้ออกมา และ ปัญหาใหญ่ อยู่ที่เจ้าตราสารหนี้พวกนี้แหละ ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะมูลค่าหรือราคาของตราสารหนี้แปรผกผันกับอัตราผลตอบแทน (yield)

“ลองนึกภาพ ถ้าพันธบัตรที่ออกมาเมื่อสองปีก่อน ให้ดอกเบี้ยแค่ 1% ที่ราคาหน้าตั๋ว 100 บาท เมื่อระดับอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นไปที่ 5% พันธบัตรที่ออกมาเมื่อสองปีก่อนย่อมไม่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับพันธบัตรที่เพิ่งออกมา ราคาตลาดก็ต้องปรับลดลงต่ำกว่า 100 บาทแน่ๆ”

โดยหลักการทางบัญชีแล้ว ธนาคารที่ถือตราสารหนี้เพื่อการลงทุนระยะยาว จะไม่บันทึกการปรับลดลงของมูลค่าตราสารหนี้จากการปรับผลตอบแทน เป็นการขาดทุนผ่าน income statement แต่จะเก็บไว้เป็น unrealized loss แทน เพราะถ้าเราถือพันธบัตรพวกนี้ไปจนครบกำหนดอายุของตราสาร มูลค่าก็จะกลับไปที่ราคา par เอง การขาดทุนนี้ก็จะค่อยๆ หายไปเอง

แต่ปัญหาจะบังเกิด เมื่อธนาคารต้องขายตราสารหนี้พวกนี้ออกมาในเวลาที่ยังขาดทุนอยู่ เพราะจะต้องบันทึกการขาดทุนผ่าน income statement และอัตราส่วนทุนของธนาคาร ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย จนทำให้ธนาคารต้องเร่งเพิ่มทุนอย่างที่เห็น

จนเริ่มมีคนเริ่มถามว่า ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นๆอีกหรือไม่!? และข้อมูลที่เห็นคือธนาคารในสหรัฐทั้งกลุ่มมี unrealized loss สูงมากถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ (ในขณะที่ทุนรวมของธนาคารมีมากกว่าสองล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) จนหุ้นในกลุ่มธนาคารร่วงกันระนาว

ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสภาพคล่องล้วนๆ (จากภาวะตลาดที่บริษัท startups ไม่สามารถหาเงินได้คล่องอย่างเดิม) จนเริ่มกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร และถูกขยายผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนทางการเงิน และสภาพคล่องเริ่มโดนถอนออกไป

“ผมไม่คิดว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นปัญหาเชิงระบบ  และธนาคารใหญ่ๆ คงไม่ได้มีปัญหาอะไรขนาดนี้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับธนาคารอื่นๆ ที่มีวิกฤตศรัทธา”

แต่ก็คงต้องจับตากันดีๆ เพราะภาวะแบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ หวังว่าจะไม่ลามไปหาคนอื่นอีก ที่แน่ๆ ทำเอาวงการ tech ที่โดนกระหน่ำอยู่แล้ว หวั่นไหวเลย แต่อันนี้น่าจะเป็นคำตอบของคำถามว่า will the Fed break something?