เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ฌอง-มิเชล คลาเวรี นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยเอกซ์-มาร์แซลล์ ของฝรั่งเศส เผยผลงานวิจัยที่น่าทึ่ง เกี่ยวกับจุลชีพจากยุคโบราณอีกครั้ง ในวารสาร Viruses ฉบับวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ เขาเคยทำให้เชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากยุคน้ำแข็งหลายชนิดฟื้นคืนชีพมาแล้ว เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการเกิดโรคระบาดชนิดใหม่และวิธีป้องกันภัยทางสาธารณสุขในอนาคต

ล่าสุด ดร.คลาเวรี ทดสอบความสามารถของเชื้อไวรัสค้นพบใหม่หลายชนิดจากยุคน้ำแข็ง ในเรื่องของการเข้าสู่เซลล์และขยายพันธุ์ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นกิจกรรมในการดำรงชีวิตของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อขึ้นนั่นเอง ผลปรากฏว่าไวรัสโบราณที่มีอายุ 48,500 ปี ถือว่าเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา เป็นไวรัสจากยุคโบราณที่หลับใหลในชั้นดินเยือกแข็งคงตัวหรือ “เพอร์มาฟรอสต์” (permafrost) มานานถึงเกือบ 50,000 ปี สามารถทำให้เซลล์ของจุลชีพชนิดอื่น อย่างเช่นเซลล์อะมีบาติดเชื้อไวรัสได้ ไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของเชื้อไวรัสในยุคปัจจุบัน ซึ่งเชื้อไวรัสดังกล่าวถูกค้นพบบริเวณทะเลสาบใต้ดินของไซบีเรีย ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นดินเยือกแข็งที่ด้านบนเริ่มละลาย เนื่องจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ส่วนไวรัสโบราณอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งได้จากซากช้างแมมมอธขนยาวอายุ 27,000 ปี และจัดว่าเป็นไวรัสที่มีอายุน้อยที่สุดในการทดสอบครั้งนี้ ก็สามารถทำให้เซลล์อะมีบาติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน

ดร.คลาเวรี กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ ชี้ถึงความเสี่ยงของภัยจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ยังคงมีไวรัสโบราณอีกหลายชนิดในชั้นดินเยือกแข็งที่ยังไม่ตาย และกำลังรอวันฟื้นคืนชีพเพื่อออกมาสร้างหายนะทางสาธารณสุขต่อโลก ซึ่งตามปกติแล้ว ชั้นดินเยือกแข็งส่วนบนที่มีความลึกราว 50 เซนติเมตร จะละลายตัวเป็นประจำในฤดูร้อน แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้อุณหภูมิในเขตวงกลมอาร์กติกเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลกถึง 3 เท่า และทำให้ชั้นดินเยือกแข็งที่ลึกลงไปละลายตัวได้มากขึ้น ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวนั้น เป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับการจำศีลเป็นเวลานานของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เนื่องจากเป็นที่มืดมิดแสงส่องไม่ถึง มีความเย็นยะเยือกและไม่มีออกซิเจน ทำให้เชื้อร้ายที่อยู่ในซากศพของมนุษย์และสัตว์ซึ่งกลบฝังไว้ตื้น ๆ เมื่อในอดีต สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานนับร้อยนับพันปี หรือในบางครั้งอาจเป็นหลายล้านปีเลยทีเดียว

ขอบคุณข้อมูล “BBC NEWS ไทย” – REUTEUS – JEAN-MICHEL CLAVERIE – NORTH-EASTERN FEDERAL UNIVERSITY