เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์กรณีมีความเห็นว่าคำร้องยุบพรรค 61 เรื่องไม่มีมูล จึงสั่งยุติเรื่อง ว่าการพิจารณาการยุบพรรคของนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ถือเป็นเรื่องของกฎหมายพูด เป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่ใช่นายทะเบียนคิดเอาเอง โดยหลักเมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ก็จะให้สำนักงานดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2564 ที่กำหนดให้ต้องให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจงเพื่อให้ความยุติธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย จากนั้นจึงมาพิจารณาว่า การการกระทำนั้น กฎหมายกำหนดเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ หลายคำร้องมีการกระทำตามที่ร้องเกิดขึ้นจริง แต่การกระทำนั้นไม่ใช่เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองก็จะไม่รับไว้พิจารณา หรือสั่งยุติเรื่อง

“แต่ถ้าพิจารณาแล้วการกระทำตามคำร้องนั้นอาจเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ก็จะรับไว้พิจารณาว่า การกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หรือถึงขนาดให้ต้องยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งแล้วแต่กรณี แต่ที่ผ่านมาพบว่าเป็นคำร้องที่ไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเป็นส่วนมาก”

นายแสวง กล่าวอีกว่า หลังผู้ร้องยื่นคำร้องต่อ กกต.แล้ว ผู้ร้องมีสิทธิสอบถาม ติดตามเรื่องเพื่อขอทราบความคืบหน้าผลการดำเนินการได้ตลอดเวลาโดยทำเป็นหนังสือถึงสำนักงาน กกต. เมื่อสำนักงานดำเนินการเสร็จสิ้น คือไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ยุติเรื่อง หรือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี จะมีการแจ้งผลให้แก่ผู้ร้องทราบ แต่อยากฝากว่าการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ต้องคำนึงถึง มาตรา 101 ที่กำหนดให้ความคุ้มครองพรรคการเมืองด้วยเหมือนกัน คือ ผู้ใดแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ต่อ กกต. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ถ้าการกระทำนั้นเป็นของพรรคการเมืองต้องได้รับโทษเป็น 2 เท่า และให้ กกต. ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคำร้องที่ยุติเรื่องเป็นกรณีกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร ควบคุม ชี้นำ ครอบงำ พรรคเพื่อไทย จะมีผลต่อคำร้องทำนองเดียวกันที่มีการร้องในปัจจุบัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะแต่ละคำร้องจะมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงขั้นตอนและกระบวนการนับคะแนน หลังปิดการลงคะแนน ว่า ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 ได้กำหนด ว่าเมื่อถึงเวลา 17.00 น. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศปิดการออกเสียงลงคะแนน แต่ถ้ายังมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประสงค์ขอใช้สิทธิ์ก็ให้ใช้สิทธิ แล้วจึงปิดการลงคะแนน จากนั้นตรวจสอบบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไปกับบัตรเลือกตั้งที่เหลือให้ถูกต้องครบถ้วน ตรงกันกับบัตรเลือกตั้งที่รับมาทั้งหมด แล้วดำเนินการนับคะแนน โดยเปิดหีบบัตรเลือกตั้งต่อหน้าประชาชนโดยเปิดเผยและนับติดต่อกันให้เสร็จ จะเลื่อนหรือประวิงเวลาการนับคะแนนไม่ได้

เมื่อนับคะแนนแล้วเสร็จ กรรมการประจำหน่วยจะประกาศผลคะแนนและจัดทำรายงานผลการนับคะแนนปิดไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชน ผู้สังเกตการณ์ และผู้แทนพรรคการเมือง สามารถตรวจสอบได้ จากนั้นแต่ละหน่วย พร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย  ดำเนินการส่งผลคะแนนให้ กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง เมื่อ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งได้รับคะแนนแล้ว ต้องตรวจสอบความถูกต้อง จำนวนบัตร สิ่งของ และวัสดุอุปกรณ์ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมผลคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตนั้น เมื่อครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ให้ดำเนินการประกาศผลคะแนนในเขตเลือกตั้งนั้น แล้วส่งผลคะแนนให้สำนักงาน กกต.จังหวัด และกกต.จังหวัดรวบรวมคะแนนจากทุกเขตในจังหวัดนำผลคะแนนที่เป็นทางการส่งให้สำนักงาน กกต.กลาง เพื่อเสนอ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งต่อไป

สำหรับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) แต่งตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 9 คน เป็นประชาชนที่อาศัยในภูมิลำเนา ในวันเลือกตั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ 15-18 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่การตรวจรับวัสดุอุปกรณ์ในการเลือกตั้ง จนถึงการนับคะแนนและส่งผลคะแนน  

การเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้ กกต.จัดให้มีการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ (ECT Report) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ในการนับคะแนน โดยหลังนับคะแนนจะนำผลคะแนนไปติดหน้าหน่วยเลือกตั้งให้ประชาชนได้ดูและตรวจสอบ พร้อมทั้งส่งคะแนนให้ กกต.เขตใช้กรอกลงในระบบ ECT Report เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามผลคะแนนได้อย่างต่อเนื่องจากสื่อมวลชนที่มาเชื่อมต่อระบบ และสามารถทราบผลคะแนนในคืนวันเลือกตั้งได้ทันที โดยสำนักงาน กกต. ยืนยันว่า จะดำเนินการนับคะแนนเลือกตั้งโดยสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย.