โดย “พี่น้อง 3 ป.” ประกอบด้วย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จุดเริ่มต้นเส้นอำนาจของ “พี่น้อง 3 ป.” ในสนามการเมืองไทย คงจะเริ่มนับตั้งแต่การทำการรัฐประหาร รัฐบาลรักษาการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา …ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผงาดขึ้นสู่อำนาจการเมืองในเวลาต่อมา

โดยหลังจากการทำการรัฐประหาร ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีคณะที่ 61 ขึ้น ประกอบด้วยรัฐมนตรีรวม 33 คน โดยมี “บิ๊กตู่” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งใน คณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าว มี “บิ๊กป้อม” ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ “บิ๊กป๊อก” ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรัฐบาลชุดดังกล่าวถูกเรียกว่า “รัฐบาล คสช.” เนื่องจากเป็นรัฐบาลภายใต้ช่วงเวลาที่ คสช.ยังมีอำนาจอยู่ ท่ามกลางเสียงเพลงดังกระหึ่ม “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ที่แต่งโดย “บิ๊กตู่”

เส้นทางการเมืองของ “พี่น้อง 3 ป.” ในเวลานั้น ยังมีภาพลักษณ์ “ทหาร” ที่เข้ามาจัดการความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ก่อนที่จะกลายสภาพสู่ภาพลักษณ์ “นักการเมือง” ในเวลาต่อมา

โดยเส้นทางอำนาจภายใต้ภาพลักษณ์ “นักการเมือง” ของ “พี่น้อง 3 ป.” มีจุดเริ่มต้นจาก พรรคพลังประชารัฐ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งทำหน้าที่เป็น “นั่งร้านอำนาจทางการเมือง” โดยเป็นการประกอบร่างขึ้นจาก อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยุค คสช. รวมทั้งนักการเมืองหลายกลุ่ม อดีต ส.ส.หลายพรรค ทั้งพรรคไทยรักไทย, พรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และยังมีอดีตนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง รวมถึงอดีตแกนนำ กปปส. เข้าร่วม โดยมี นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.อุตสาหกรรม ในรัฐบาล คสช. เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก

จากนั้นในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอชื่อ “บิ๊กตู่” ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่พรรคเสนอ โดยมี “รักสงบจบที่ลุงตู่” เป็นมอตโต้สำคัญพาพรรคพลังประชารัฐกวาดเก้าอี้ ส.ส.ได้เป็นอันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทย และเกิดปรากฏการณ์ “บัตรเขย่ง” หนึ่งในอภินิหารทางกฎหมายตอกย้ำคำพูดของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า “เขาอยากอยู่ยาว” จนต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีรัฐบาลผสม 19 พรรคการเมือง มากที่สุดในประวัติการณ์ และที่สำคัญรัฐธรรมนูญยังสร้างฐานอำนาจให้กับ “พี่น้อง 3 ป.” ด้วยการเปิดช่องให้ 250 ส.ว.ที่มาจากการทำคลอดของ คสช. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จนกลายเป็นปัญหามาถึงปัจจุบัน ที่ฝ่ายค้านชูธงแก้รัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว. เพื่อประชาธิปไตยเต็มใบ

หลังการเลือกตั้งประเทศไทย ได้คณะรัฐมนตรี ชุดที่ 62 ประกอบด้วยรัฐมนตรี 36 คน โดยมีอดีตรัฐมนตรี ยุครัฐบาล คสช. ผสมร่วมกับ รัฐมนตรีจากพรรคการเมือง 6 พรรค โดย “บิ๊กตู่” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยอำนาจทั้งหมดยังอยู่ในมือ “พี่น้อง 3ป.” ทั้ง “บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่-บิ๊กป๊อก” รั้งตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง โดย “บิ๊กตู่” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และ “บิ๊กป๊อก” ดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย และกนระจายกันคุมฝ่ายบริหาร คุมเกมการเมือง วางสายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย

แต่เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว มีการปีนเกลียวอำนาจกันระหว่าง คนรอบข้าง “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” จุดเปลี่ยนเกมอำนาจจึงเกิดขึ้น เห็นได้ชัดจากความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ จนท้ายที่สุด “บิ๊กป้อม” ต้องลงไปคุมบังเหียนด้วยตัวเอง ในฐานะหัวหน้าพรรค จากการลงมติเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ ในวันที่ 27 มิ.ย. 2563 “บิ๊กป้อม” กระชับอำนาจในกลุ่มนักการเมืองขั้วพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงกลุ่มพรรคเล็ก ขณะที่ “บิ๊กตู่” กระชับอำนาจในส่วนของพรรคข้าราชการ และพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นแกนนำหลัก

แต่ความห่างเหินของ “พี่น้อง 3 ป.” ยังคงขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ “บิ๊กตู่” ตกอยู่ในสภาพ “นายกฯ ขาลอย” ที่ ส.ส.ในสภาไม่อยากคบหา จนเกิดเหตุการณ์เชือด “บิ๊กตู่” กลางสภา ในศึกซักฟอกช่วงเดือน ก.ย. 2564 เกมนี้นำโดย “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น พร้อมกลุ่ม “รัฐมนตรี 4 ช.” ในพรรคพลังประชารัฐ สุดท้าย “บิ๊กตู่” พลิกเกม เอาตัวรอดจากศึกซักฟอกมาได้ และนำมาสู่เกมเอาคืน ด้วยการสะบัดปากกาปลด ร.อ.ธรรมนัส และ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี รมช.เกษตรและสหกรณ์ และรมช.แรงงาน และสุดท้ายพรรคพลังประชารัฐมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พร้อม 18 ส.ส. ออกจากสมาชิกพรรค เพื่อเปิดช่องให้ไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย

แม้หลังจากนั้น “พี่ป้อม-น้องตู่” จะพยายามสร้างภาพการเคลียร์ใจ-กระชับความสัมพันธ์ ระหว่างพี่น้องหลายครั้ง ปล่อยภาพความกลมเกลียวกันหลายรอบ แต่ท้ายสุดก็เอาไม่อยู่ “ป.ป๊อก” ถึงขนาดประกาศวางมือทางการเมือง แสดงรอยแยก “ป.ป๊อก-ป.ประยุทธ์” กับ “ป.ป้อม” อย่างชัดเจน

นำมาสู่การแยกทางกันในท้ายที่สุด ด้วยการที่ “บิ๊กตู่”  ฉีกตัวออกไปสร้างดาวดวงใหม่ ในนาม พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับบทเป็นหัวหน้าพรรค โดยชู “บิ๊กตู่” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ผลัก “บิ๊กตู่” โดดลงสนามการเมืองเต็มตัว โดยมีเค้าลางว่าจะถอดชุดลายพรางมาสวมสูทคล้องมาลัยดาวเรือง ลงสู้ศึกเลือกตั้ง โดยเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อเบอร์หนึ่ง ซึ่งใครต่อใครต่างมองว่าสงครามครั้งสุดท้ายของ “บิ๊กตู่” บนดาวดวงใหม่ จะไปถึงฝั่งฝันหรือปิดฉากชีวิตการเมืองกันแน่

ขณะที่ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ยังคงปักหลักเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลุยฟื้นฟูดาวดวงเก่า พร้อมเสนอตัวเองเป็นหนึ่งในตัวเลือกในเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยมีจุดขายในมอตโต้ที่ว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” เป็นเกมแทงหวยประสานได้ทุกพรรครักทุกขั้ว ตำแหน่งที่แน่นอนหลังการเลือกตั้งคือผู้จัดการรัฐบาลมือวางอันดับหนึ่ง

ท่ามกลางกระแสแลนด์ไสลด์ของพรรคเพื่อไทย จึงต้องจับตาดูเส้นทางอำนาจของ “พี่ใหญ่-น้องเล็กแห่งบูรพาพยัคฆ์” จะเป็นสงครามครั้งสุดท้าย หรือจุดเริ่มต้นในสงครามครั้งใหม่ อยู่ที่อำนาจการตัดสินใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ.