โดยไทม์ไลน์การเมืองหลังจากนี้ สถานีต่อไปคือการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งกรณีการยุบสภาก่อนครบวาระนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45-60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 103 กำหนด

ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้งของ กกต. มีการวางตุ๊กตาไว้คร่าวๆ โดยปักหมุดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งหลังจากการจัดเลือกตั้งแล้วเสร็จ กกต. จะใช้เวลาตรวจสอบและประกาศผลการเลือกตั้ง ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ซึ่งจะตกอยู่ในช่วงประมาณต้นเดือน ก.ค. 2566 จากนั้นเมื่อ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทย และจะมีการเลือกประธานรัฐสภา ประมาณกลางเดือน ก.ค. 2566

จากนั้นก็จะเข้าสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา เมื่อได้ชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี ประมาณช่วงปลายเดือน ก.ค. 2566 หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และการถวายสัตย์ก่อนดำรงตำแหน่ง โดยจะมีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศ ในเดือน ส.ค. 2566

ซึ่งตลอดระยะเวลาตามไทม์ไลน์ข้างต้น ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.-ส.ค. 2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังจะต้องอยู่รักษาการต่อ นับรวมแล้วเป็นเวลาประมาณ 4 เดือนครึ่ง

โดยอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการนั้น หากมีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลรักษาการสามารถที่จะออก พ.ร.ก. ระหว่างนี้ได้ ส่วนเรื่องของ พ.ร.ฎ. ที่เกี่ยวข้องกับกฎกระทรวงต่าง ๆ นั้น ก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน โดยในส่วนของข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่งยังปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะพ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกันกับที่ ครม. ชุดรักษาการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อมี ครม. ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิณาณตนแล้ว

แต่ในระหว่างนี้ หากเกิดกรณีที่มีรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ครม. ยังสามารถประชุมได้ โดยนายกฯ มีอำนาจในการปรับ ครม. หากมีความจำเป็น

ทั้งนี้ สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลักๆ คือ 1. ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพัน ต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2. ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงาน ของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน 3. ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือ จำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน

และ 4. ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต. กำหนด อาทิ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น, ไม่โอนงบประมาณเพื่อทำในลักษณะที่จะเป็นการแจกจ่ายให้กับประชาชน, ไม่ใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น, ไม่มีการประชุม ครม. สัญจร เป็นต้น

ปรับโฟกัสมาที่สนามการเมือง ท่ามกลางบรรยากาศการเตรียมทัพสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ที่เริ่มมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครให้เห็นหน้าค่าตากันแล้วหลายพรรค รวมทั้งการเปิดประชันนโยบายหาเสียงหลายนโยบายที่อยู่ในความสนใจของคนในสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาพรวมการแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ยังคงเป็นภาพสะท้อนการต่อสู้ระหว่างขั้วอำนาจ 2 กลุ่ม

โดยขั้วอำนาจแรก คือ ขั้วอำนาจฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และหมายรวมถึง พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า โดยในกลุ่มนี้ มีการประเมินว่าหากได้รับเลือกตั้งในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งในปี 2562 โอกาสที่จะจับมือกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งก็เป็นไปได้สูง โดยที่มีเสียงสนับสนุนของ ส.ว. เสริมอีกแรงหนึ่ง

ส่วนอีกฝ่ายคือ ขั้วอำนาจฝ่ายค้าน ทั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย ซึ่งในกลุ่มนี้มีการประเมินว่า หากพรรคเพื่อไทยสามารถทำแลนด์สไลด์ได้สำเร็จ โดยกวาด ส.ส. ได้มากกว่า 250 เสียง หรืออาจสูงถึง 280 เสียง แต่ก็ยังมีเงื่อนไขสำคัญหากจะไปถึงเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาล โดยจะต้องรวมเสียงพรรคในกลุ่มขั้วอำนาจของตน ให้ได้ถึง 375 เสียง ถึงจะสามารถเอาชนะ ขั้วอำนาจอีกฝ่าย และเสียง ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ

ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงโมเดล “ขั้วที่ 3” ภายใต้เงื่อนไขว่า ขั้วอำนาจฝ่ายรัฐบาล ไม่สามารถได้เสียง ส.ส. ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งปี 2562 ขณะที่ขั้วอำนาจฝ่ายค้านเอง รวมเสียงได้ไม่ถึง 375 เสียง ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการ “พลิกขั้วทางการเมือง” เกิดเป็น “ขั้วที่ 3” ก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อย โดยอาศัยการจับมือ ระหว่าง พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคขนาดเล็กอื่นๆ โดยโดดเดี่ยว พรรครวมไทยสร้างชาติ และ พรรคก้าวไกล เป็นฝ่ายค้าน

ดังนั้น…การเมืองไทยหลังจากนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้! ซึ่งก็ต้องจับตาดูว่า เมื่อสังเวียนเลือกตั้งเปิดขึ้น แต่ละพรรคจะงัดไม้เด็ดเคล็ดลับอะไรออกมาโชว์ เพื่อแย่งชิงคะแนนนิยมทางการเมือง สร้างโอกาสเอาชนะในการเลือกตั้งในที่สุด!

นอกจากนี้ ก็คงต้องดูที่ กกต. ในฐานะกรรมการคุมกติกาเลือกตั้งด้วยว่า จะจับได้ไล่ทันนักการเมืองหรือไม่ หรือจะออกอาการปิดตาข้างเดียวอย่างที่มีการตั้งข้อสงสัยหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือการดูเรื่องนโยบายหาเสียง ซึ่งตอนนี้มีหลายนโยบายที่ถูกมองว่าเป็น “นโยบายขายฝัน” ที่ไม่สามารถทำได้จริง!