สิ้นสุดการรอคอย โดยขณะนี้ พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

สำหรับกฎหมาย กยศ.ฉบับใหม่ ได้มีการปรับปรุง รายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย เพื่อต้องการช่วยอุดช่องโหว่ และปัญหาต่าง ๆ ที่หมักหมมมานานให้คลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดี หรือลูกหนี้ที่ถูกยึดทรัพย์ รวมถึงการลดดอก เบี้ยปรับ เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการกู้ยืมมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญที่ลูกหนี้ควรรู้ ดังนี้

  1. ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี
  2. กรณีผิดนัดชำระลดอัตราเบี้ยปรับเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี
  3. ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี
  4. การขยายโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ให้เข้าถึงการศึกษาที่หลากหลายในหลักสูตรระยะสั้น เพื่อ Reskill Upskill ครอบคลุมหลักสูตรอาชีพ เพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ เสริมทักษะเฉพาะทางสำหรับวิชาชีพต่าง ๆ
  5. ช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีหรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีให้สามารถผ่อนผันการชำระเงินคืน ปรับโครงสร้างหนี้ หรือแปลงหนี้ใหม่ ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
  6. มีการลำดับการจัดอันดับการตัดชำระหนี้ใหม่ ซึ่งกำหนดให้นำเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ ต่างจากก่อนหน้านี้ ที่มีการให้ตัดเงินเพิ่ม ดอกเบี้ย และค่อยไปตัดเงินต้น โดยเมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว กองทุนจะนำยอดรับชำระเงินทุกรายการตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 มาคำนวณการรับชำระใหม่อีกครั้ง และปรับข้อมูลให้ถูกต้อง
  7. กยศ. จะนำเงินที่ได้รับมาหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดและเงินเพิ่มตามลำดับ และจะคำนวณเบี้ยปรับใหม่จากเดิม 7.5% เหลือเพียง 0.5%