จากกรณี นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” เกี่ยวกับเคสผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง 7 เดือน ก้มตัวไม่ได้ เดินลำบากเพราะปวดหลัง ไม่มีไข้ ไม่เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ลด ไม่มีโรคประจำตัว ในบ้านไม่มีใครเป็นวัณโรค

เมื่อตรวจร่างกายปกติ เจาะเลือดทุกอย่างปกติ เอกซเรย์ปอดและกระดูกสันหลังส่วนเอวปกติ ทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระดูกสันหลังส่วนเอว (MRI lumbar spine) ผิดปกติ จนสุดท้ายตรวจพบเป็น “วัณโรคที่กระดูกสันหลัง” จนชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จึงอยากพาทุกท่านมารู้จัก “วัณโรคที่กระดูกสันหลัง” ภัยเงียบร้ายแรง โดยเรื่องนี้เว็บไซต์ “pobpad” ได้ให้ข้อมูลว่า วัณโรคกระดูกสันหลัง (Pott Disease) คือการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรคบริเวณกระดูกสันหลัง โดยการติดเชื้อมักเริ่มมาจากปอด ก่อนจะกระจายมายังกระดูกสันหลังผ่านทางการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง มีไข้ เกิดฝีที่กระดูกสันหลังหรือกล้ามเนื้อสะโพก หากอาการรุนแรง อาจส่งผลให้มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท อย่างภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต

อาจเป็นรูปภาพของ การตรวจเอกซ์เรย์

โดยทั่วไป วัณโรคกระดูกสันหลังจะเกิดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกช่วงล่างและกระดูกสันหลังส่วนเอวช่วงบน แต่เชื้อสามารถกระจายไปยังกระดูกสันหลังส่วนอื่น ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งการรักษาจะเป็นการใช้ยาหรือการผ่าตัด โดยวิธีและระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละบุคคล

  • อาการของวัณโรคกระดูกสันหลัง

วัณโรคกระดูกสันหลัง มักแสดงอาการอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหลังเฉพาะที่ โดยเฉพาะบริเวณแนวกระดูกสันหลังหรือตามแนวประสาท มีไข้ เหงื่อออกมากในช่วงกลางคืน รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือเกิดฝีในกล้ามเนื้อโซแอส (Psoas Abscess) จนอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท นอกจากนี้ หากเกิดการติดเชื้อวัณโรคกระดูกสันหลังในบริเวณต้นคอ จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น แต่มักจะพบได้น้อย โดยจะมีอาการเจ็บหรือตึง มีภาวะคอบิด เสียงแหบ และมีความผิดปกติทางระบบประสาท

ในกรณีที่อาการรุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้หลังค่อมเพราะกระดูกบริเวณสันหลังถูกทำลายหรือมีอาการบวมด้านข้างของกระดูกสันหลัง มีภาวะขาอ่อนแรงทั้งสองข้าง ประสาทการรับรู้อ่อนแอลง ปวดบริเวณรากประสาทไขสันหลัง หรือเกิดความผิดปกติในกลุ่มอาการกดทับที่เกิดกับส่วนปลายของไขสันหลัง (Cauda Equina Syndrome) เนื่องจากไขสันหลังถูกกดทับ

อาจเป็นรูปภาพของ การตรวจเอกซ์เรย์ และ ข้อความพูดว่า "L2"
  • สาเหตุของวัณโรคกระดูกสันหลัง

วัณโรคกระดูกสันหลังเกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) บริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งเชื้อดังกล่าวมักกระจายตัวจากปอดผ่านทางเส้นเลือดไปสู่จุดอื่นได้ จึงอาจเกิดการติดเชื้อได้หลายจุดในกระดูกสันหลัง

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคพบมักพบในกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีสุขภาพที่ไม่ดีหรือมีโภชนาการที่ไม่ดี เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นวัณโรค มีการติดต่อหรือสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อวัณโรค ผู้ที่ท่องเที่ยวหรืออพยพมาจากประเทศมีการระบาดของวัณโรค คนไร้บ้าน ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด เป็นต้น

  • การรักษาวัณโรคกระดูกสันหลัง

แพทย์จะรักษาผู้ป่วยแต่ละราย โดยพิจารณาจากความรุนแรงและความซับซ้อนของอาการ ดังนี้

การรักษาโดยการใช้ยา : ปริมาณการใช้ยาและสูตรยาจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยแพทย์จะจ่ายยาต้านวัณโรคตามความรุนแรงของอาการ โรคประจำตัว และภาวะการดื้อยาของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งตัวอย่างยาต้านวัณโรคที่นำมาใช้ เช่น ยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) ยาอีแทมบูทอล (Ethambutol) หรือยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) เป็นต้น

การผ่าตัด : แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ยา มีภาวะหลังค่อม ข้อกระดูกสันหลังผิดปกติ หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาท ซึ่งแพทย์จะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น อายุ โรคประจำตัวหรืออาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระดับความรุนแรงของความผิดปกติและตำแหน่งของกระดูกสันหลังที่เกิดความผิดปกติ เป็นต้น

  • ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคกระดูกสันหลัง
  1. วัณโรคกระดูกสันหลังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ โดยจะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล เช่น
  2. ภาวะความไม่มั่นคงของข้อกระดูกสันหลังหรือภาวะหลังค่อมจากการทรุดตัวของกระดูกสันหลัง
  3. ในกรณีที่มีการติดเชื้อกระจายไปยังเส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อใกล้เคียง อาจทำให้เกิดฝี (Cold Abscess) ซึ่งฝีอาจเข้าไปเบียดเนื้อเยื่อบริเวณโพรงกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดโพรงกระดูกตีบแคบจนส่งผลต่อไขสันหลังและระบบประสาท
  4. เชื้อวัณโรคอาจกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย หรือบางรายอาจรักษาแล้วไม่ได้ผล
  • การป้องกันวัณโรคกระดูกสันหลัง

พื้นฐานในการป้องกันโรค คือ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือการติดเชื้ออื่นเนื่องจากอาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคได้ง่ายขึ้น เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นวัณโรค หรือจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ในกรณีที่ต้องดูแลผู้ป่วย ผู้ดูแลจำเป็นอย่างยิ่งต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ดูแลสุขอนามัยของตนเองและผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

นอกจากนี้ วัณโรคยังสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (Bacillus Calmette-Guérin: BCG) หรือวัคซีนบีซีจี โดยในประเทศไทย จัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกคน สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 16-35 ปี และมีความเสี่ยงต่อโรค อาจเข้ารับการฉีดวัคซีนบีซีจีได้เช่นกัน แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนอาจลดลง..

ขอบคุณข้อมูล : pobpad, หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC