วันนี้ (30 มี.ค.) รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CRISP) ลงนามในบันทึกข้อตกลง เพื่อสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัย รวบรวมข้อมูล และองค์ความรู้ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย โดยปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับนโยบายการผลักดันเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่สามารถขับเคลื่อนโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
แต่ด้วยข้อจำกัดและปัจจัยหลายประการที่ทำให้ประชาชนบางกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม ส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ที่จะซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และที่สำคัญก็คือ จะทำให้คนในสังคมมีความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงและรวดเร็วกว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา
การลงนามในบันทึกข้อตกลงศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการในการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนางานด้านการศึกษาวิจัยปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย เพื่อนำข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยมาเป็นข้อมูลสำหรับต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็น Evidence based policy making ที่สำนักงาน กสทช. จะขับเคลื่อนต่อไป
“สำนักงาน กสทช. จำเป็นต้องมีข้อมูลและองค์ความรู้ด้านความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการจัดทำนโยบายเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นปัญหารากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ” รศ.ดร.ศุภัช กล่าว
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานด้านวิชาการ การสำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา หรือให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ ตามอำนาจและหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และเพิ่มพูนขีดความสามารถในการปฏิบัติงานและการดำเนินงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 3 ปี