เมื่อวันที่ 30 มี.ค. จากสถานการณ์ไฟป่าทั่ว จ.เชียงราย ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่สามารถดับไฟได้ทั้งหมด ทางศูนย์เหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน (ศบก.ไฟป่า) จ.เชียงราย รายงานว่า จากการรับสัญญาณจากดาวเทียม Gistda ในช่วงเช้ามืด ยังพบจุดความร้อนหรือ Hot Spot ในพื้นที่ จ.เชียงราย รวมจำนวน 215 จุด โดยอยู่ในเขต อ.พาน มากที่สุดจำนวน 35 จุด อ.เมืองเชียงราย อ.แม่สรวย จำนวน 32 จุด อ.แม่จัน จำนวน 25 จุด อ.เวียงเป่าเป้า จำนวน 23 จุด ฯลฯ และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการเผาในเขตป่าอนุรักษ์มากที่สุด รองลงมาคือป่าสงวนแห่งชาติ แต่ ศบก. ไม่พบว่ามีการเผาพื้นที่โล่ง หรือทางการเกษตรเลยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ตลอดทั้งวัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ยังคงกระจายกำลังกันร่วมกันอาสาสมัคร และชาวบ้านเข้าดับไฟและทำแนวกันไฟตามจุดต่างๆ จากนั้นมีการวางเวรยาม ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากการที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นำเฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่าหรือ ฮ.ปักเป้า KA-32 ที่มีกระเช้าตักน้ำขนาด 5,000 ลิตร ขึ้นบินสนับสนุนการดับไฟในพื้นที่ที่ยากต่อการเดินเท้า โดยจะใช้แหล่งน้ำจากหนองบัวใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ต.บ้านดู่ เพื่อดับไฟบ้านหัวฝาย และอ่างเก็บน้ำห้วยเสือ เพื่อดับไฟดอยจระเข้

ล่าสุด นายสิทธิชัย เสรีส่องแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแล้วสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายนิพนธ์ จำนงค์สิริศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เดินทางพบปะกับชุดปฏิบัติงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ห้องประชุมสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน จ.เชียงราย โดยได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ บินตรวจสอบสภาพหมอกควันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง พื้นที่ป่าสงวนละป่าอุทยานอีกหลายจุดรวมถึงพื้นที่อุทยานภูชี้ฟ้า ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย ซึ่งในรอบสัปดาห์ที่ผ่าน ได้เกิดไฟป่าข้ามแดนมาจากประเทศลาว เผาไหม้ในพื้นที่ โดยเฉพาะส่วนยอดภูชี้ฟ้า ถูกไฟไหม้ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

โดยนายปิ่นสักก์ กล่าวว่า จากการเช็กข้อมูลมลพิษของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้จัดทำตัวโมเดลเพื่อพยากรณ์และศึกษาหมอกควันที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงราย ซึ่งมีค่าฝุ่นมากกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาชน มีแหล่งฝุ่นควันมาจากไหน ซึ่งพบว่าประมาณร้อยละ 70 มาจากประเทศเพื่อนบ้าน จากข้อมูลทางนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเร่งประสานประเทศเพื่อนบ้านโดยผ่านทุกกลไก เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนแล้ว ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เกิดในประะเทศไทย ก็จะเร่งแก้ไขไปพร้อมๆ กัน

นายปิ่นสักก์ กล่าวด้วยว่า โมเดลที่ทางกรมควบคุมมลพิษจัดทำ มีการนำค่าฝุ่นและแหล่งกำเนิดฝุ่นเข้ามาวิเคราะห์ จะเห็นได้ว่าค่าฝุ่นในประเทศเหลือเพียงร้อยละ 38 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในส่วนที่เหลือร้อยละ 60-70 นั้น จะมาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ซึ่งเมื่อนำเอาข้อมูลแหล่งกำเนิดในประเทศจากสถานตรวจวัดค่าฝุ่น จุดความร้อน ตลอดจนแหล่งกำเนิดฝุ่นจากแหล่งอื่น ทั้งจากรถยนต์ การจราจร หรือโรงงานต่างๆ มาพยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งจากการตัดค่าและแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศออก จะเหลือค่าเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น

ทางด้านนายสิทธิชัย กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันที่เกินมาตรฐานของเชียงรายเกิดจาก 2 ทาง คือ ส่วนแรกเป็นหมอกควันข้ามแดน ซึ่งได้มีการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขอความร่วมมือประชาชนของแต่ละประเทศทั้งลาวและเมียนมา ให้ช่วยการลดหรือหยุดการเผา อีกส่วนคือหมอกควันในพื้นที่ ซึ่งเกิดจากไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากภาคอื่นจากภาคอีสาน ตลอดจนเฮลิคอปเตอร์จากกระทรวงทรัพย์ฯ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาช่วยในการดับไฟ ในพื้นที่การเกษตรได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจรจากับเกษตรให้งดการเผาและมาช่วยกันดับไฟ

นายสิทธิชัย กล่าวด้วยว่า ความจริงการดับไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีการถ่ายโอนให้กับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว แต่เนื่องด้วยงบประมาณและบุคคลกรที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอ และยังไม่มีประสบการณ์ในการดับไฟ ระยะยาวจำเป็นที่จะต้องมีการอบรมให้ความรู้ เสริมงบประมาณและบุคลากร ส่วนพื้นที่เกษตร ทางเกษตรจังหวัดก็จะมีการส่งเสริมให้ความรู้ในการแปรรูปวัชพืชทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหรือทำด้านอื่นๆ เพื่อลดการเผาไหม้ ตลอดจนสร้างสิ่งเร้าใจในการเพิ่มรางวัลนำจับให้ผู้แจ้งเบาะแสผู้ลักลอบเผาเพื่อป้องกันและป้องปราม ซึ่งไฟป่าสาเหตุสำคัญมาจากคน ทั้งการเผาป่าหาของป่า ล่าสัตว์ บุกรุกการเกษตร หรือกระทั่งปัญหายาเสพติดที่ยังเป็นปัจจัยให้มีการเผาป่า ซึ่งผู้นำชุมชนจะต้องสร้างความตระหนัก เพราะไฟป่าคนจุดไม่กี่คน แต่ต้องใช้กำลังในการดับไฟหลายพันคน และคนเดือดร้อนมีเป็นล้านๆ คน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไฟป่ามีแนวโน้มลดลง แต่จากการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ สถานการณ์ไฟแล้งปีนี้ จะยาวนานไปถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะต้องมีการควบคุมเฝ้าระวังไฟป่าหมอกควันเดือนเมษายนอีกทั้งเดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตลอดทั้งวันยังคงมีฝุ่นควันไฟปกคลุมจังหวัดเชียงรายอย่างหนาแน่น โดยกรมควบคุมมลพิษ ตรววัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 บ่ายวันนี้ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย 234 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อ.เชียงของ 254 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังเป็นค่าที่ทรงตัว ส่วนพื้นที่ อ.แม่สาย วัดได้ 258 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่ช่วง 1-2 วันก่อน มีค่าสูงกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหมอกควันที่ยังหนาแน่น ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนละการประกอบอาชีพ

โดยร้านข้าวแกงในตัวเมืองเชียงราย นางเฉลียว บุญวรรณา เจ้าของร้านข้าวแกงปักษ์ใต้ป้าแดง ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย กล่าวว่า ฝุ่นควันที่มีมากในระยะนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างมาก ทำให้หายใจลำบาก แสบตาแสบจมูกและเจ็บคอ มีอาการไอเหมือนจะเป็นไข้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการค้าขายอาหาร เนื่องจากหมอกควันทำให้ผู้คนไม่ค่อยนอกบ้าน การเข้ามาใช้บริการที่ร้านก็น้อย ลูกค้าหายไปกว่าร้อยละ 50 จากเดิมที่มีลูกค้ามาใช้บริการวันละกว่า 200 คน ทุกวันนี้เหลือเพียงประมาณ 100 คน บางวันก็ไม่ถึง หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ คงจะลำบากอย่างแน่นอน

ต่อมา นายสิทธิชัย เสรีส่องแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแล้วสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายนิพนธ์ จำนงค์สิริศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เดินทางพบปะกับชุดปฏิบัติงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน จ.เชียงราย และขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่หมอกควันดังกล่าว.