เมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะโฆษก กระทรวงดีอีเอส เปิดเผยว่า ดีอีเอส และตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ได้สืบสวนติดตามแฮกเกอร์อย่างต่อเนื่อง โดยมีหลายข้อมูลอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ความคืบหน้าล่าสุด เชื่อว่าจะมีคนไทยเกี่ยวข้องด้วย ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นที่ข้อมูลรั่วจากหมอพร้อมนั้น ยังไม่สามารถยืนยันได้ ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนอยู่ ส่วนกรณีศาลมีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ของแฮกเกอร์แล้ว แต่แฮกเกอร์ไปเปิดเว็บใหม่ ก็ต้องพยายามไล่ปิดให้หมด

อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ 3 เม.ย.นี้ เวลา 11.30 น. ทางดีอีเอสจะมีการประชุมร่วมกันของกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน อาทิ กระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฯลฯ โดยมี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดดีอีเอส เป็นประธาน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาข้อมูลรั่วเกิดขึ้นอีก หลังจากนั้นในช่วงเวลา 13.30 น. จะมีการประชุม พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยนายชัยวุฒิ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส เป็นประธานเพื่อติดตามการแก้ปัญหาข้อมูลรั่วไหลถูกแฮกครั้งนี้ด้วย

ด้าน ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยไซเบอร์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่ถูกแฮกเกอร์ “9near” ขโมยข้อมูลส่วน บุคคลคนไทยกว่า 55 ล้านรายการ โพสต์ขายบนเว็บไซต์ Bleach Forums ได้ออกมากล่าวกับเพจชัวร์ก่อนแชร์ (www.facebook.com/SureAndShare/) ถึงเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างน้อยได้ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกตระหนัก ถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งโอกาสที่จะมีข้อมูลรั่วไหลเกิดขึ้นกับทุกคนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ทุกคนมีโอกาสถูกแฮก แล้วข้อมูลรั่วได้เท่าๆ กัน

“เวลานี้อาจจะมีข้อมูลของทุกๆ ท่านรั่วอยู่ แต่เราไม่รู้ เพราะผู้ที่กระทำไม่ได้เอามาเปิดเผย ถ้าเราต้องเผชิญกับการมีข้อมูลส่วนบุคคลที่รั่วไหลไป ขอให้ตั้งสติ ไม่ต้องไปคิดว่าข้อมูลหลุดไปได้ยังไง แต่ให้รีบคิดว่าเราจะทำอย่างไรที่จะรับมือได้ มีใครนำข้อมูลเราไปใช้ประโยชน์หรือเปล่า ซึ่งปัญหาข้อมูลรั่ว ความจริงแล้วข้อมูลรั่วไม่ได้เกิดขึ้นที่ตัวเรา แต่เกิดขึ้นกับคนที่เราเคยให้ข้อมูลไว้ แล้วเขาทำข้อมูลรั่วไหลออกไป เรื่องของตนเริ่มต้นตั้งแต่วันพฤหัส 31 มี.ค. แต่เพิ่งปิดกั้นได้ 1 เม.ย. ซึ่งเป็นวันเสาร์ ตลอดเวลาที่ผ่านมามีโทรศัพท์มาหาจำนวนมาก เรื่องข้อมูลรั่วเป็นเรื่องธรรมชาติ เราควบคุมมันไม่ได้” ดร.ปริญญา กล่าว

ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า เชื่อว่าอาจจะมีข้อมูลหลุดไปแล้วถึง 60 ล้านรายก็เป็นไปได้ หลายคนอาจจะมีโทรศัพท์แปลกๆ โทรฯ มาหาแล้วไม่พูดอะไร ขอให้รู้ว่านั่นอาจจะเป็นบอต เพราะเมื่อใดที่เบอร์โทรศัพท์เรา ไปปรากฏบนโซเชียลจะมีบอตไปกวาดแล้วหมุนโทรศัพท์หาเรา สิ่งที่ตนเจอยังมีเอสเอ็มเอส (SMS) มาจากทุกที่ ตรวจสอบแล้วส่งมาพร้อมกันในเวลาเดียวกัน แสดงว่าน่าจะมีโปรแกรมที่ยิงเอสเอ็มเอส ไปยังต้นทางแล้วให้ส่งเอสเอ็มเอสมาที่ตน 2,000 กว่าข้อความ ถ้าคิดเป็นค่าใช้จ่ายจะเป็นเงินจำนวนมาก ผลที่ตามมาอาจทำให้เซิร์ฟเวอร์ทำงานช้า หรือระบบล่ม หน่วยงานองค์กรธุรกิจควรตื่นตัวและตรวจสอบ

“คนที่ทำอาจจะต้องการบอกว่า รัฐมีช่องโหว่ อยากให้คนมองสิ่งที่เกิดกับตนว่า การที่ข้อมูลรั่วเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ คนอย่างตนก็โดนได้ ทุกคนควรระมัดระวังข้อมูลตัวเอง เลิกด่ากันว่ากันว่าคนนั้นคนนี้ผิดพลาด ช่วยกันแจ้งความจะได้สืบหาคนทำ เรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทยเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล” ดร.ปริญญา กล่าว

สำหรับคำแนะนำกับคนที่จะต้องรับมือกับปัญหาข้อมูลรั่ว ขอให้ทุกคนอย่าตกใจแตกตื่น ตั้งสติก่อน ไม่ต้องเครียดมาก เพราะเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนที่เอาข้อมูลไปเอาข้อมูลไปเท่าไร เขาจะเปิดเผยข้อมูลเมื่อไหร่ เราควบคุมไม่ได้ ควรหาวิธีป้องกัน เช่น เซ็ตมือถือให้ป้องกันการโจมตี และลองนึกว่ามีข้อมูลอะไรหลุดไปบ้าง มีชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด หมายเลขบัตรประชาชน ที่อยู่ นึกว่าระบบที่ใช้อยู่มีอะไรที่ใช้ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันตัวตนบ้าง หาทางไม่ให้เกิดความเสียหายมาก รีบแก้ไข แก้อะไรเปลี่ยนแปลงได้เปลี่ยน และอย่าใช้รหัสผ่านเป็นหมายเลขโทรศัพท์หรือวันเดือนปีเกิด และถ้ามีการโทรมาอย่าหลงเชื่อเปิดเผยข้อมูลต่างๆ