เข้าเดือนเมษายนแล้ว ใครหลายคนอาจจะชอบเพราะมีวันหยุดยาว แต่บางคนอาจจะเฉากาย เพราะเป็นเดือนที่เข้าฤดูร้อน ซึ่งบางจังหวัดอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาฯ ทำให้หลายคนเป็นลมง่าย รวมถึงเกิดโรคฮีทสโตรก ซึ่งวิธีคลายร้อนที่ดีที่สุดตามที่แพทย์แนะนำ คือ ให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อให้ร่างกายปรับสมดุลได้ดีขึ้น จนทำให้หลายคนหันมาพกกระติกน้ำหรือแม้แต่ขวดน้ำ แต่ทว่าบางคนก็ดื่มน้ำไม่หมด ทำให้บางครั้งต้องวางไว้ข้างประตูรถ พอจะกลับมาดื่มใหม่ดันมีกลิ่นแปลก ๆ และมีความขุ่น เลยสงสัยว่าดื่มได้ไหม หรืออาจมีสารก่อมะเร็งละลายอยู่ในน้ำ วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้ไขข้อสงสัยไว้ให้แล้ว

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการทดลองนำขวดน้ำดื่มทิ้งไว้ในรถที่จอดตากแดด เมื่อนำน้ำมาตรวจสอบ ปรากฏว่า ไม่พบสารก่อมะเร็ง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อแบคทีเรียปะปนในน้ำที่ถูกเปิดดื่มแล้ว และวางตากแดดในรถ เพราะขวดน้ำดื่มที่เปิดแล้วแต่ดื่มไม่หมด มีโอกาสเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคมากกว่า ดังนั้นน้ำดื่มที่เปิดแล้วควรดื่มให้หมดในวันเดียวนะคะ

ส่วนที่ว่าสารก่อมะเร็งจากภาชนะพลาสติก เมื่อถูกความร้อนจากแดดอาจละลายปนเปื้อนในน้ำ ข้อนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของขวดน้ำดื่ม ว่าต้องผลิตจากพลาสติก PET (พลาสติกใส มองทะลุได้) ซึ่งไม่มีสารก่อมะเร็ง และทนความร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 60-95 องศาเซลเซียส ขวดน้ำพวกนี้ก็ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะอาจมีแบคทีเรียตกค้างในขวด หากนำมาใส่น้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ก็จะเกิดการปนเปื้อนได้เหมือนกัน

สรุปแล้วว่า น้ำขวดพลาสติกที่ยังไม่ถูกเปิดดื่ม ทิ้งตากแดดในรถดื่มได้ ไม่อันตราย แต่ถ้า เปิดแล้วควรดื่มให้หมด เก็บไว้ดื่มวันต่อ ๆ ไป อาจป่วยเพราะเชื้อโรคที่เล็ดลอดเข้าไปในขวด ได้นะคะทุกคน…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @jส100