ไมค์ ครัมโฮลซ์ วัย 21 ปี นักศึกษาหนุ่มจากรัฐฟลอริดา เผยประสบการณ์ป่วยที่ลืมไม่ลง เริ่มจากที่เขางีบหลับเป็นช่วงสั้นๆ เพียง 40 นาที หลังจากเสร็จงานที่ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ปีที่แล้ว โดยที่เขาไม่ได้ถอดคอนแทคเลนส์รายวันแบบใช้แล้วทิ้ง จากนั้นเขาก็ไปอาบน้ำฝักบัว ซึ่งเป็นช่วงที่เขาถอดคอนแทคเลนส์ออก แล้วจึงเข้านอนตามปกติ

อีก 1 เดือนต่อมา แพทย์ก็วินิจฉัยว่า เขาป่วยเป็นโรคติดเชื้ออะมีบาที่ชื่อว่า อะแคนทามีบา ที่กระจกตา และอาจส่งผลให้เขาต้องตาบอด โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ยาก มีอาการคือ เจ็บตา ตาแดง สายตาพร่า ทนต่อแสงสว่างมากไม่ได้ น้ำตาไหลบ่อย และมักรู้สึกว่ามีบางอย่างติดอยู่ในดวงตา

ครัมโฮลซ์ ให้ข้อมูลว่า การนอนหลับโดยที่ไม่ได้ถอดคอนแทคเลนส์ออกแม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็อาจะทำให้กระจกตาติดเชื้ออะแคนทามีบาได้ 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ หรือ ซีดีซี ชี้ว่า โรคติดเชื้ออะแคนทามีบานี้ วินิจฉัยได้ยากและรักษายาก แต่พบได้บ่อยในหมู่ผู้สวมคอนแทคเลนส์ ในอัตราส่วนปีละ 1 ต่อ 500 ราย ซึ่งอาจมีอาการของโรคที่ร้ายแรงถึงทำให้ตาบอดได้

ทางศูนย์ยังให้คำแนะนำว่าควรถอดคอนแทคเลนส์ก่อนทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น อาบน้ำฝักบัว แช่อ่างน้ำร้อน หรือว่ายน้ำ รวมถึงการนอนหลับ เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออะแคนทามีบา 

ในกรณีของ ครัมโฮลซ์ นั้น เขากล่าวว่า การติดเชื้อนี้อาจเป็นเรื่องบังเอิญ อาจเกิดขึ้นระหว่างที่เขาอาบน้ำฝักบัว แต่หมอของเขาเชื่อว่าเป็นการติดเชื้อในระหว่างที่เขานอนหลับ ตอนนี้เขารู้ว่าตนไม่มีวันมองเห็นได้ตามปกติเหมือนเมื่อก่อน และไม่รู้ว่าสายตาของเขาจะกลับคืนมากี่เปอร์เซ็นต์

ตอนแรกที่เริ่มมีอาการ ครัมโฮลซ์ คิดว่าเขาเกิดอาการแพ้บางอย่างที่ทำให้คันที่ดวงตา รู้สึกไวต่อแสงสว่าง และมีน้ำตาไหลตลอดเวลาที่ดวงตาข้างซ้าย เขากินยาแก้แพ้เพราะคิดว่าเขาแพ้ขนสุนัขที่บ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้น

ต่อมา ระหว่างที่เขาเล่นบาสเกตบอลในวิทยาลัย เขาก็รู้สึกระคายเคืองที่ตาซ้าย เขาจึงไปพบจักษุแพทย์ในวันถัดมา ซึ่งส่งตัวเขาไปยังแผนกเฉพาะทางในทันที

ในตอนแรก หมอเฉพาะทางคิดว่าเขาติดเชื้อเริมที่ดวงตา ไวรัสนี้ทำให้ตาเจ็บและมีอาการคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้ออะแคนทามีบา 

ครัมโฮลซ์ ได้รับยาต้านไวรัส แต่อาการเขากลับแย่ลง เขามองเห็นแสงวูบวาบในดวงตา และเจ็บตาอย่างมาก เขาตัดสินใจเปลี่ยนหมอ แต่หมอคนใหม่ก็ยังคงคิดว่าเป็นเชื้อเริม จึงให้ยาต้านไวรัสเพิ่มขึ้น

วันที่ 31 ม.ค. 2566 ซึ่งเป็นเวลาเดือนเศษที่ ครัมโฮลซ์ ป่วย ทีมแพทย์จึงโทรฯ แจ้งเขาว่า จากการทดสอบตัวอย่างที่เก็บจากดวงตาของเขาเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 พบว่าเขาติดเชื้ออะแคนทามีบา และได้สั่งยาหยอดตาให้เขาใหม่

สัปดาห์ต่อมา ครัมโฮลซ์ เข้ารับการบำบัดด้วยแสงเพื่อหยุดยั้งการติดเชื้อและเสริมสร้างความแข็งแรงให้คอลลาเจนของกระจกตา รวมทั้งใช้เนื้อเยื่อที่แข็งแรงจากตาขาวของเขามาช่วยรักษากระจกตาส่วนที่ติดเชื้อ 

อาการของเขาค่อย ๆ ดีขึ้นในสัปดาห์ถัดมา แต่ ครัมโฮลซ์ ยังต้องเก็บตัวอยู่ในห้องนอนต่อไปอีกหลายสัปดาห์ เพื่อไม่ให้ดวงตาโดนแสง

จนถึงตอนนี้ ครัมโฮลซ์ ยังต้องพบกับความเจ็บปวดเป็นครั้งคราวที่เขาบรรยาว่า “เหมือนโดนฟ้าผ่า” จากหลังศีรษะไปถึงด้านบนและพุ่งเข้าสู่ดวงตาด้านซ้าย ซึ่งกินเวลาแต่ละครั้งราว 30 นาที จากนั้นจะค่อย ๆ คลายลงและหลงเหลือความรู้สึกเหมือนทรายเข้าตาไว้อีกประมาณ 24 ชม. ซึ่งทำให้เขาต้องกินยาแก้ปวดแทบจะทุก 2 ชม.

ทีมแพทย์บอก ครัมโฮลซ์ ว่า ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด เชื้อปรสิตจะหมดจากตัวเขาภายในเวลา 6 เดือน เมื่อเขารับการปลูกถ่ายกระจกตาเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อและเสียหายจากการใช้ยาแรงๆ ในการรักษา แต่คาดว่าน่าจะรักษาสายตาและการมองเห็นของเขาไว้ได้บางส่วน

แหล่งข่าว : insider.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, Michael Krumholz