เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า การจัดทำโพลความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่าง สื่อสองสำนักใหญ่เดลินิวส์และเครือมติชน เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 โดยการทำโพลครั้งที่ 1 นี้ เป็นการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม ของสื่อเดลินิวส์และเครือมติชน คาดว่าจะมีผู้ร่วมโหวตจำนวนมาก โดยเฉพาะพลังเสียงหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ กลุ่มนิวโหวตเตอร์ และประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ

สำหรับการโหวต รอบที่ 1 ประเด็นคำถามมี 2 ข้อ เพื่อสะท้อนฉันทามติในกลุ่มประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และทำโพลออนไลน์ผ่านสื่อเครือเดลินิวส์-มติชน ดังนี้ เริ่มต้นรอบที่ 1 “เลือกนายกรัฐมนตรีที่ใช่” และ “เลือกพรรคการเมืองที่ชอบ” ระยะเวลาโหวต เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 เม.ย. 2566 ประชาชนผู้ที่รักประชาธิปไตย อยากมีส่วนร่วมกับการโหวตครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ สามารถติดตามความคืบหน้าต่อไปผ่านทุกช่องทางของสื่อเดลินิวส์ และสื่อในเครือมติชน ข่าวสด และพันธมิตร

ทั้งนี้ การเกาะติด เจาะลึกศึกเลือกตั้ง 2566 ระหว่าง “2 ค่ายยักษ์” วงการสื่อมวลชนอย่าง “เดลินิวส์ X มติชน” ภายหลังได้แถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกับการเลือกตั้งปี 2566 กันไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมี นางประพิณ รุจิรวงศ์, นายปารเมศ เหตระกูล และ นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร นสพ.เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ พร้อมด้วยผู้บริหารเครือมติชน นำโดย น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) รวมถึง ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ นายศุภกร รวยวาสนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิกเดฟ จำกัด ผู้ให้บริการระบบซิสเต็ม เอ็นจิเนียร์ และไอทีโซลูชันชั้นนำ เข้าร่วม

นางประพิณ กล่าวว่า เดลินิวส์เป็นสื่อมวลชนที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน และปีนี้ ครบ 59 ปี เข้าสู่ปีที่ 60 เรายึดมั่นที่จะยังผลิตข่าว งานเขียนคุณภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ ควบคู่กับการนำเสนอในแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกรูปแบบ มีการรายงานข่าวคุณภาพนำเสนอครบถ้วน ในส่วนของความร่วมมือครั้งนี้ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมสื่อบ้านเรา ซึ่งทุกคนจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่ได้จากกลุ่มผู้อ่านของทั้ง 2 ค่ายใหญ่แน่นอน

ด้านนายปารเมศ ยืนยันว่า เดลินิวส์เป็นองค์กรสื่อครบวงจร ที่จำหน่าย นสพ. ทั่วประเทศ เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งประเทศมายาวนาน มีบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในสนามข่าวทุกประเภท และในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เตรียมความพร้อมผู้สื่อข่าวไว้ทั่วประเทศ เพื่อเกาะติดทุกพื้นที่อย่างรวดเร็วในการทำโพลเลือกตั้ง ให้มีผลออกมาอย่าง “แม่นยำ” มากที่สุด ด้วยการออกเสียงแสดงความคิดเห็นจากกลุ่มผู้อ่านของเดลินิวส์และเครือมติชน เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เห็นการเมืองในอนาคต แนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จึงมองว่า ผลโพลที่ออกมา น่าจะมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ขอเชิญชวนผู้อ่านและผู้ชม ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพล เพื่อเป็นเสียงสะท้อนไปยังสถาบันพรรคการเมืองได้ทราบว่า มาถูกทางแล้วหรือไม่ หรือสะท้อนความต้องการ เพื่อพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะได้ปรับตัวต่อไป

ขณะเดียวกัน น.ส.ปานบัว กล่าวว่า โพลในครั้งนี้มีความสำคัญมากๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะ การเปลี่ยนแปลงตรงนี้คือการเปลี่ยนแปลงวิธีในการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงในฐานะผู้โหวต หรือ นิวโหวตเตอร์ (New Voter) แค่ปัจจัยตรงนี้ ใครคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งนี้จะออกแบบง่ายๆ หรือเดาได้ง่ายไม่น่าจะใช่ เพราะมันมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม ไม่รวมถึงมิติปัญหาด้านต่างๆ ที่ทุกคนล้วนแล้วแต่ก็มีมิติของปัญหาที่แตกต่างกัน ที่อาจจะนำผล ไปสู่ผลของการตัดสินใจเลือก ตามแต่มิติที่ได้รับผลกระทบมา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องซับซ้อนที่สุดครั้งหนึ่งของการเลือกตั้ง

ด้านนายปราปต์ มองว่าโพลที่จัดทำร่วมกัน จะเป็นโพลซึ่งมีความเรียบง่าย ด้วยชุดคำถามทั้ง 2 คำถาม และแม้จะไม่ใช่โพลลงรายละเอียดถึงระดับเขต แต่ในฐานะสื่อ โพลที่ทำร่วมกันน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงกระแสภาพรวม ภาพกว้าง ช่วยคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นได้ โดยผลประโยชน์ในการวิเคราะห์การเลือกตั้ง อาจจะวิเคราะห์ในส่วนปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ได้จุดเด่น คือ กลุ่มผู้บริโภคซึ่งมีความกว้างขวาง เพราะความหลากหลายของผู้อ่านของทั้งสองเครือ โดยเชื่อมั่นว่าเราจะได้ข้อมูลที่กว้างขวางในเชิงคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมา มติชนเคยทำโพลการเมืองจริง แต่มีข้อจำกัด เนื่องด้วยความเบี่ยงเบนก็จะเทไปที่ค่านิยมแบบหนึ่ง แต่พอผนึกร่วมกับเดลินิวส์ มันเกิดความกว้างขวาง และครอบคลุมทุกความเป็นไปได้

ทั้งนี้ หลังทำโพล 2 ครั้ง ทั้งในช่วงต้นเดือน เม.ย. และปลายเดือน เม.ย. จากนั้นในช่วงต้นเดือน พ.ค. จะมีเวทีสเปเชียลฟอรั่ม ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็น จะได้รับการวิเคราะห์โดยทีมนักวิชาการจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และสื่อมวลชนด้วย เพื่อคาดการณ์ คาดคะเนอนาคตการเมืองไทยต่อไป อีกทั้งคิดว่า ผลลัพธ์จะสามารถสะท้อนให้เห็นแนวคิดของประชาชนว่า ความหลากหลายของกลุ่มคนจะมี “ฉันทามติ” หรือมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องการให้ใครเป็นผู้นำประเทศ รวมถึงการเมืองแบบไหน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล.