ช่วงหน้าร้อนของทุกปี ทุกคนจะได้ยินคำว่า “พีค” ไฟฟ้า คืออะไร!!!

“พีค” คือ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประชาชน ณ เวลานั้นๆ ของทั้ง 3 การไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือพีอีเอ และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. เป็นช่วงเวลาที่ประชาชน พร้อมใจกันใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ที่กินไฟค่อนข้างสูงอันดับต้นๆ เพื่อคลายความร้อน ทำให้มีการใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก

เดิมทีปีนี้กระทรวงพลังงาน คาดว่า ยอดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปี 66 ช่วงหน้าร้อนนี้จะพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี หรือสูงกว่า 30,936 เมกะวัตต์ เนื่องจากไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ แต่อุณหภูมิในประเทศไทยกำลังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่บางนา วันนี้ (6 เม.ย.) ค่าดัชนีความร้อนพุ่งสูงถึง 50.2 องศาฯ

รู้หรือไม่ว่า ข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบของ 3 การไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือพีอีเอ และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ทะลุสถิติการประเมินพีคของกระทรวงพลังงานไปแล้ว 2 ครั้ง ในปีนี้

ครั้งแรก เกิดเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 66 เวลา 15.43 น. มียอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 31,054.6 เมกะวัตต์

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 66 เวลา 15.28 น. มียอดพีคไฟฟ้าที่ 31,495.5 เมกะวัตต์ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 37-41 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม พีคไฟฟ้าดังกล่าวยังไม่เป็นการทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทยที่เคยเกิดขึ้น ในวันที่ 28 เม.ย. 65 เวลา 14.30 น. มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด 33,177.3 เมกะวัตต์

เพราะฉะนั้นหน้าร้อนนี้ ต้องจับตาดูว่า ประเทศไทย จะเกิด “พีค” เป็นครั้งที่ 3 หรือมีครั้งที่ 4 ที่ 5 ภายในปีนี้อีกหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป  

และไม่ว่า จะพีค กี่รอบ ทางกระทรวงพลังงาน ยืนยันแล้วว่า ได้เตรียมมาตรการรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเพียงพอ ทั้งด้านการผลิต ด้านระบบส่งไฟฟ้า และด้านเชื้อเพลิง เพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ไม่ให้ไฟตก ไฟดับ แต่อย่าลืมช่วยกันประหยัด ใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น เพราะถ้ายิ่งใช้ไฟฟ้ามาก ก็ต้องจ่าค่าไฟฟ้ามากด้วยเช่นกัน