ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ถือเป็นวันสุดท้ายของการโหวตโพล รอบที่ 1 ชี้อนาคตการเมืองไทย ซึ่งทางสื่อ 2 สำนักใหญ่ ได้ร่วมกันจัดทำโพลเลือกตั้ง 66 “เดลินิวส์ x มติชน” ครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 โดยการทำโพลรอบที่ 1 เริ่มโหวตมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll รวมถึงเว็บไซต์ในเครือมติชน นอกจากนี้ ยังโหวตผ่านทาง “คิวอาร์โค้ด” ส่องสแกนในหนังสือพิมพ์ได้ด้วย

แม้จะเป็นวันสุดท้ายของโพล แต่ก็ยังได้ความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ทยอยโหวตเพื่อ “เลือกนายกฯ​ ที่ใช่-เลือกพรรคการเมืองที่ชอบ” กันอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการปิดโหวต รอบที่ 1 (เวลา 23.59 น. วันศุกร์ 14 เม.ย. 66) ผู้สื่อข่าว จ.สระบุรี ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ อดีตนายกเล็กเมืองสระบุรี ดร.ภาณุพงศ์ ทิพยเศวต (นายกคล้าย) เจ้าของร้านอาหาร “ริมคลองชลสระบุรี” ที่ได้ร่วมกิจกรรมสแกนผ่านทางคิวอาร์โค้ด ส่องสแกนในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เปิดเผยว่า นับเป็นสิ่งน่าชื่นชม และคาดว่าผู้คนยินดีที่จะร่วมในการแสดงออกถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยการร่วมโหวตความต้องการในตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” และแนวนโยบายของพรรคการเมือง ที่ตนชอบเป็นจำนวนมาก เพราะผู้ที่จะโหวต ย่อมเล็งเห็นในความเป็นกลางของ “เดลินิวส์ X มติชน” ซึ่งมีฐานผู้ติดตามเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และถือได้ว่า 2 สื่อดัง เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการจุดกระแสให้คน “อยากไปเลือกตั้ง” ในครั้งนี้

อดีตนายกเล็กเมืองสระบุรี กล่าวต่อว่า กับ 2 คำถาม คำถามแรกคือ “ท่านจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง 2566 นี้” จากรายชื่อที่พรรคการเมืองต่างๆ นำเสนอกว่า 20 รายชื่อ มีทั้งคนหนุ่มสาว และผู้อาวุโส นั้นตนคิดว่า บุคคลที่จะมาเป็นผู้นำประเทศไทยนั้น ต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล พร้อมจะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง มีความรู้ ความสามารถ สร้างความอยู่ดีให้คนไทยทั้งประเทศ ทั้งคนเมืองและคนในชนบท มีความเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ของคนไทยให้ดีขึ้นในทุกมิติ ทัดเทียมกับอารยประเทศ

ดร.ภาณุพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของ “พรรคการเมือง” ที่ชอบนั้น คงพูดยากนิดหนึ่ง เพราะยุคนี้ การหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองล้วนใช้ “ประชานิยม” นำหน้า ตนเคยทำงานการเมืองท้องถิ่น ย่อมทราบดีว่า ความต้องการของชาวบ้านคืออะไร ปัญหา “ปากท้อง” สำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงใคร่ขอฝากพรรคการเมืองต่างๆ ได้ให้ความสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า ต้องเร่งให้มีการพัฒนา ตั้งแต่แนวนโยบายจากเบื้องบนคือ “รัฐบาล” ผ่านไปตามกระบวนการ คือ กระทรวง ทบวงกรม จังหวัด อำเภอ ถึงท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ย่อมทราบได้ดีว่า แต่ละท้องถิ่นมีวัตถุดิบอะไรเป็นของดี ที่พร้อมจะให้พัฒนา แปลงเป็นสินค้า หรือส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดึงผู้คนเข้ามาใช้จ่าย สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน พี่น้องประชาชนเหล่านั้นได้อยู่ดี มีสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สมตามเจตนารมณ์ของพรรคการเมืองเหล่านั้นที่หาเสียงไว้.