เมื่อวันที่ 16 เม.ย. สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง “โพล เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 4 : ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค)” จากกรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 400 เขตเลือกตั้ง จำนวนตัวอย่างในการศึกษาเพื่อประมาณการรวมทั้งสิ้น 6,990 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5-15 เม.ย. 2566 โดยพบว่าเมื่อพิจารณาความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 70.5 หรือประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 37,431,819 คน จะไปเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 29.5 หรือประมาณการจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 15,662,959 คน จะไม่ไปเลือกตั้ง

และที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งจำนวน 400 ที่นั่ง จำแนกตามข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ที่เป็นกลุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค พบว่า พรรคเพื่อไทยมีความเป็นไปได้ที่จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ในภาคอีสานและภาคเหนือ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะได้ 133 ที่นั่งหรือร้อยละ 33.3 ของจำนวนทั้งหมดทั่วประเทศ โดยเป็นภาคเหนือ 24 ที่นั่ง ภาคอีสาน 78 ที่นั่ง แต่พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเลยในภาคใต้ในการศึกษาครั้งนี้ ส่วนใน กทม. พรรคเพื่อไทยจะได้ 8 ที่นั่ง ภาคกลาง18 ที่นั่ง ภาคตะวันออก 4 ที่นั่ง และภาคตะวันตก 1 ที่นั่ง

ส่วน พรรคภูมิใจไทย ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง คือ 101 ที่นั่งทั่วประเทศหรือร้อยละ 25.3 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้งทั้งหมด โดยภาพของจำนวนที่นั่ง ส.ส.กระจายไปในทุกกลุ่มจังหวัดของแต่ละภาค ได้แก่ ภาคตะวันตก 10 ที่นั่ง ภาคเหนือ 5 ที่นั่ง กทม. 8 ที่นั่ง ภาคอีสาน 36 ที่นั่ง ภาคกลาง 26 ที่นั่ง ภาคตะวันออก 6 ที่นั่ง และภาคใต้ 10 ที่นั่ง ในขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ กลับขึ้นมาเป็นอันดับสามจำนวน ส.ส.เขต 53 ที่นั่งหรือร้อยละ 13.3 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยกระจายไปแต่ละกลุ่มจังหวัดของภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 6 ที่นั่ง กทม. 2 ที่นั่ง ภาคอีสาน 10 ที่นั่ง ภาคกลาง 17 ที่นั่ง ภาคตะวันออก 8 ที่นั่ง ภาคตะวันตกจำนวน 3 ที่นั่ง และภาคใต้ 7 ที่นั่ง เป็นต้น

ในส่วนของ พรรคประชาธิปัตย์ ตามมาอันดับที่สี่จำนวน ส.ส.เขต 44 ที่นั่งหรือร้อยละ 11.0 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง ได้แก่ ภาคเหนือ 1 ที่นั่ง กทม. 3 ที่นั่ง ภาคอีสาน 2 ที่นั่ง ภาคกลาง 1 ที่นั่ง ภาคตะวันออก 7 ที่นั่ง ภาคตะวันตก 2 และภาคใต้ 28 ที่นั่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ แลนด์สไลด์ในภาคใต้แบบยกจังหวัดก็เป็นไปได้ในการศึกษาครั้งนี้ นอกจากนี้พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อันดับห้าจำนวน ส.ส.เขต 35 ที่นั่งหรือร้อยละ 8.8 ของจำนวนที่นั่งส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพรรครวมไทยสร้างชาติมีความเป็นไปได้จะได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง ได้แก่ ภาคเหนือ 1 ที่นั่ง กทม. 6 ที่นั่ง ภาคอีสาน 1 ที่นั่ง ภาคกลาง 13 ที่นั่ง ภาคตะวันออก 2 ที่นั่ง ภาคตะวันตก 3 ที่นั่ง และภาคใต้ 9 ที่นั่ง

ในขณะที่ พรรคก้าวไกล ได้อันดับที่หก จำนวน ส.ส.เขต 10 ที่นั่งหรือร้อยละ 2.5 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศโดยในการศึกษาครั้งนี้พบว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ ส.ส.เขตเลยในภาคเหนือ แต่จะได้ ส.ส.เขตใน กทม. 1 ที่นั่ง ภาคอีสาน 2 ที่นั่ง ภาคกลาง 5 ที่นั่ง ภาคตะวันออก 2 ที่นั่ง โดยไม่พบได้ในภาคตะวันตกและภาคใต้.