เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการฯ พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. พ.ต.ท.สุพจน์ พุ่มแหยม รอง ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงผลตรวจยึดยาเถื่อนในคลินิกหรูย่านเกษร มูลค่าของกลางกว่า 5 ล้านบาท และบุกตรวจยึดซิลิโคนศัลยกรรมเถื่อน ผลิตจากโรงสีส่งคลินิกเสริมความงามรายใหญ่ 

พ.ต.อ.เนติ เปิดเผยว่า สำหรับคดีแรก เจ้าหน้าที่นำกำลังพร้อมหมายค้นตรวจสอบคลินิกชื่อดังแห่งหนึ่ง ในอาคารเกษรทาวเวอร์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. ซึ่งเปิดให้บริการทางเวชกรรม, กายภาพบำบัด, แพทย์แผนไทยประยุกต์ หลังพบใช้ยานำเข้าที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และอาหารเสริมที่ผสมยาอันตราย มาให้บริการหรือรักษาแก่ลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ในลักษณะขายเป็นคอร์สแพ็กเกจต่างๆ เช่น ดีท็อกซ์สารพิษ, ชะลอวัยด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และการฉีดวิตามินเพื่อบำรุงตับและสมองรักษาอาการเจ็ตแล็ก เพิ่มพลังงานกับร่างกายให้รู้สึกสดชื่นและมีสมาธิ โดยแต่ละคอร์สหรือแพ็กเกจจะมีราคาแตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่ 1,000-2 ล้านบาท จากการตรวจสอบสามารถตรวจยึดยาและอาหารเสริมดังกล่าวได้ 252 รายการ รวมมูลค่าเกือบ 6 ล้านบาท  

พ.ต.อ.เนติ กล่าวต่อว่า คลินิกดังกล่าว เน้นรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ โดยจะให้ผู้เข้ารับบริการตรวจเลือดก่อนจากนั้นนำเลือดไปตรวจวิเคราะห์ แล้วจึงเสนอขายคอร์ส หรือขายยาให้ลูกค้าอ้างว่าไม่มีขายในประเทศไทย มีเฉพาะคลินิกนี้เท่านั้น เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้ทำการออกหมายเรียกกรรมการบริษัทฯ เพื่อเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน “ขายยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา, จำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ส่วนแพทย์ที่มีชื่อเป็นผู้ดำเนินการในคลินิกดังกล่าว มีความผิดฐาน “ไม่จัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ที่จําเป็นประจำสถานพยาบาลฯ ตามชนิดที่กําหนดในกฎกระทรวง” นอกจากนี้ หากผลตรวจวิเคราะห์อาหารเสริมพบสารอันตรายจริงก็จะถูกดำเนินคดีเพิ่มด้วย

ด้าน พ.ต.อ.ธรากร กล่าวว่า สำหรับคดีที่สอง เจ้าหน้าที่ กก.4 บก. ปคบ. ร่วมกับ อย. และ สสจ.สุพรรณบุรี นำหมายค้นศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าตรวจค้นโรงสีร้างแห่งหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 1 ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี หลังทราบว่าถูกใช้เป็นฐานลักลอบผลิตชิ้นส่วนซิลิโคนศัลยกรรมเสริมจมูกและหน้าผาก ส่งคลินิกต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึด เครื่องจักรผลิตซิลิโคนจมูกและหน้าผาก, แม่พิมพ์ซิลิโคนทรงต่างๆ  68 แบบ, ซิลิโคนเสริมจมูกและหน้าผากสำเร็จรูป 1,098 ชิ้น และอุปกรณ์ส่วนควบในการผลิตซิลิโคนศัลยกรรม กว่า 16 รายการ รวมมูลค่า 3.5ล้านบาท พร้อมกับดำเนินคดี น.ส.เอ (นามสมมุติ) ผู้ผลิตซิลิโคนเถื่อนในความผิดฐาน “ผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับใบรับแจ้งรายการละเอียด” จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ทำมาแล้วประมาณ 2 ปี 

พ.ต.ท.สุพจน์ กล่าวว่า หลังการตรวจยึดจับกุมโรงสีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ยังคงขยายผลต่อเนื่อง จนทราบว่ามีพนักงานฝ่ายจัดซื้อของ บริษัท เค เมดิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้สั่งผลิต ส่งไปที่ กรวินคลินิก สาขางามวงศ์วาน และสาขาขอนแก่น ก่อนกระจายไปยังสาขาอื่นๆ กว่า 30 สาขา เพื่อใช้ในงานศัลยกรรมให้ลูกค้า ซึ่งพบหลักฐานการจ่ายเงินค่าซิลิโคนในห้วงปี 2565 มากกว่า 2 ล้านบาท จึงนำกำลังเข้าตรวจสอบกรวินคลินิกสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ จนสามารถตรวจยึดชิ้นส่วนซิลิโคนรูปจมูก 12,282 ชิ้น, ซิลิโคนหน้าผาก 2,775 ชิ้น, ซิลิโคนคาง 1,107 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 จำนวน 998 รายการ, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 จำนวน 474 รายการ, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 จำนวน 428 รายการ, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จำนวน 55 รายการ รวมมูลค่าเกือบ 3 ล้านบาท 

พ.ต.ท.สุพจน์ กล่าวอีกว่า ต้นทุนการผลิตซิลิโคนเถื่อนเหล่านี้อยู่ที่ 60-80 บาทต่อชิ้น แต่ขายคอร์สผ่าตัดศัลยกรรมในราคา 4,900-5 หมื่นบาท และจากการตรวจสอบผู้รับบริการศัลยกรรม ตั้งแต่ปี 2565-ปัจจุบันพบว่า มีการผ่าตัดศัลกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชิ้นส่วนซิลิโคนกว่า 1,621 ราย เป็นการเสริมจมูก 1,436 ราย, คาง 154 ราย และเสริมจมูกกับคางพร้อมกัน 31 ราย พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ออกหมายเรียกกลุ่มผู้ต้องหาให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาแล้วในความผิดฐานร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตฯ, ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้, ร่วมกันขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา, ร่วมกันขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง, ร่วมกันจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต่อไป.