ภายหลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พร้อมด้วย พ.ต.ท.ธนัท แสงอรุณ ทนายความและที่ปรึกษาทางกฎหมาย ร่วมกันเดินทางเข้าพบคณะทำงานสอบสวน และพนักงานอัยการ เพื่อรายงานตัวและมอบพยานหลักฐานเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายชื่อบริษัทจำนวน 26 แห่ง ที่ประกอบการค้าขายในประเทศเมียนมา เช่นเดียวกับบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป และมีพฤติการณ์เชื่อได้ว่ารับเงินโอนจากบัญชียาเสพติด นั้น

ต่อมาเวลา 10.50 น. วันที่ 20 เม.ย. ที่ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนบรมราชชนนี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ นายอุปกิต ออกมาเปิดเผยว่า จากการยื่นเอกสารรายชื่อบริษัทเพิ่มเติม 26 แห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้ยื่นไปเเล้ว 86 บริษัท รวมเป็น 112 บริษัท ทราบจากอัยการว่า ได้มีการตรวจสอบบริษัทไปบ้างแล้ว 11 แห่ง แต่อัยการไม่ได้บอกผลการตรวจสอบให้ตนทราบแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ตนจะต้องเข้ามาฟังคำสั่งคดีในวันที่ 18 พ.ค. เวลา 10.00 น. ซึ่งขอยืนยันว่าไม่มีความกังวลใจอะไร เพราะไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาปรักปรำ และยืนยันว่าไม่หนี จะขอสู้ในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด ไม่เหมือนกับที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ และนายรังสิมันต์ โรม บอกว่าตนจะหนีเมื่อหลายเดือนที่แล้ว ตนมองว่าคนพวกนี้มีพฤติกรรมปรักปรำ และปั้นเรื่องว่าตนทำเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด คล้ายเด็กเลี้ยงแกะ

นายอุปกิต กล่าวต่อว่า สำหรับรายชื่อบริษัทรวมกว่า 112 แห่ง ที่ตนยื่นเรื่องแก่อัยการให้ตรวจสอบ ล้วนเป็นบริษัทที่รับเงินโดยตรงจากบัญชียาเสพติด ซึ่งในรายชื่อบริษัท 112 แห่งนี้ ยังไม่รวมบุคคลอีกมากมาย เพราะธนาคารไม่ให้ชื่อ จึงทำให้เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ จ้องเล่นงานแต่ตน และจะขอรักษาสิทธิของตัวเอง ใครปรักปรำใส่ร้ายว่าตนไปทำอะไรเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น จะใช้สิทธิดำเนินการทางกฎหมายถึงที่สุด เพราะตนไม่เกี่ยวข้อง และบริษัท อัลลัวร์กรุ๊ป (พีแอนด์อี) ตนก็ไม่ได้ถือหุ้น ไม่ได้เกี่ยวข้อง และก็มั่นใจว่า บริษัทก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเช่นกัน

นายอุปกิต ระบุด้วยว่า เอ็มซี คือ Money changer หรือคนแลกเงิน โดยนักธุรกิจจะใช้ช่องทางนี้เป็นตัวกลางในการแลกเงินเพราะสาเหตุด่านปิด ส่วนจะมองว่าเอ็มซีเป็นช่องทางสำหรับการทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ เพราะคนค้ายาเสพติดคงจ้องอยู่แล้วว่าจะโอนเงินไปมาอย่างไร และถ้าได้โอกาส ก็อาจจะใช้ตรงนี้ ทั้งนี้ ตนไม่อยากให้ใครมาเจ็บช้ำกับเรื่องนี้ จึงขอฝากไปยังรักษาการรัฐบาลชุดนี้ หรือรัฐบาลชุดหน้า ให้ช่วยหาช่องทาง ทำอย่างไรกับการค้าขายของนักธุรกิจที่จะปลอดภัยจากขบวนการยาเสพติด เพราะมีการใช้จ่ายรับโอนเงิน จะได้แยกระหว่างผู้ค้ายากับนักธุรกิจได้ถูกต้อง

เมื่อถามว่ามองว่าตัวเองตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่นั้น นายอุปกิต ระบุว่า ตนตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองแน่นอน และยังมีอดีตนักการเมืองเกาะกระแสเรื่องนี้ ทำให้เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง

เช่นในคราวที่แล้ว ที่มีการตั้งคำถามว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ มีเพื่อนชื่อ พ.ต.ท.ธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล และมีภรรยาคือทนายแจม หรือ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตสายไหม ของพรรคก้าวไกล และยังเป็นเพื่อนกับนายรังสิมันต์ โรม รวมถึงทนายแจมเป็นนักเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยคู่กับทนายอานนท์ นำภา พอมาดูแล้วตั้งข้อสังเกตว่ามันเกี่ยวข้องโดยบังเอิญหรือไม่ อาจจะมีเส้นสายความเชื่อมโยงกันหรือไม่ หวังผลทางการเมืองหรือไม่ เพราะในข้อมูลมีการเชื่อมโยงว่า ตนเป็นเจ้าของที่ดินของอาคารพรรครวมไทยสร้างชาติเท่านั้น และตรงนี้ถือเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้กรอง และตนก็ไม่มีโอกาสชี้แจงหรือแก้ตัว แต่กลับกลายมาเป็น ส.ว.ทรงเอ ตามหน้าสื่อมวลชน

นายอุปกิต กล่าวด้วยว่า สัปดาห์หน้าจะมีการฟ้องเติมประมาณ 2 ราย โดยรายหนึ่งเป็นอดีตนักการเมือง (อดีต ส.ส.) ส่วนอีกรายเป็นกึ่งสื่อมวลชน เนื่องจากมีการออกมาปรักปรำตนว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งๆ ที่ตนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังไม่มีใครพิพากษาว่าตนทำยาเสพติด โดยตนจะแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท และข้อหาเกี่ยวกับการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น.