ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ คนกำลังผ่อนบ้าน หรือที่คิดกำลังซื้อบ้าน อาจยังไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวรับมือผลกระทบอย่างไร ทีมข่าวเศรษฐกิจ เดลินิวส์ พาไปดูผลกระทบรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้กู้บ้านเตรียมตัวเตรียมใจ รับมือ เตรียมความพร้อมกันให้ถูก ติดตามกันได้เลย 

ผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ต่อสินเชื่อบ้านอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

กลุ่มแรก “คนที่กู้อยู่แล้ว” จะต้องรับชะตากรรมแน่นอน คือ ผ่อนไปแล้วแต่ตัดเงินต้นน้อยลง สวนทางกับต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทำให้แผนการผ่อนอาจหมดช้ากว้าเดิม ยิ่งถ้าดอกเบี้ยกระโดดขึ้นมากๆ อาจต้องเจอผลกระทบเด้ง 2 คือ การปรับค่างวดเพิ่มอีก 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ กรณีถ้าดอกเบี้ยสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่เกิน 0.50-0.75% ผู้กู้อาจไม่ต้องเสียค่าผ่อนในแต่ละงวดเพิ่ม โดยจะยังผ่อนค่างวดเท่าเดิม แต่เงินต้นจะลดช้าลง และต้องผ่อนนานกว่าเดิม เพราะในวงเงินผ่อน แต่ละเดือน ทุกๆ 100 บาท จะถูกแบ่งจ่ายเป็นดอกเบี้ย ซึ่งช่วงแรกจะตัดดอกเบี้ยมากถึง 70-80% ของเงินผ่อนเลยทีเดียว และเงินต้นช่วงจะตัดต้นไป 20-30% เท่านั้น 

มีการคำนวณ กรณีถ้าเรากู้ซื้อบ้าน 1 ล้านบาท และดอกเบี้ยขึ้น 0.25% เงินผ่อนแต่ละงวดจะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยเพิ่มเดือนละ 140 บาท และถ้าดอกเบี้ยขึ้น 0.50% ดอกเบี้ยก็จะแพงขึ้นเดือนละ 280 บาท หรือหากใครกู้บ้าน 2 ล้านบาท ดอกเบี้ยก็อาจถูกหักเพิ่มทวีคูณเป็นเดือนละ 480 บาท ซึ่งจะขยับเพิ่มตัดส่วนเงินกู้และดอกเบี้ยขึ้นไปเรื่อยๆ

แต่กรณีหากดอกเบี้ยขึ้นแรงจากเดิมตั้งแต่ 1.00% ขึ้นไป ก็อาจทำให้ลูกหนี้ได้รับผลกระทบเยอะ เพราะธนาคารอาจต้องปรับเงินงวดให้ผ่อนจ่ายในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระให้ลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มกว่าเดิมทันที เช่น อาจเพิ่ม 500 บาท หรือ 1,000 บาทเดือน แต่จะเพิ่มมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับวงเงินหนี้ อายุผู้กู้ และอัตราดอกเบี้ย

กลุ่มที่สอง คนที่มีแผนอยากจะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ผลกระทบแบ่งเป็น 2 มุม

  • มุมแรก คือ หากต้องการกู้วงเงินเท่าเดิม เมื่อเทียบระหว่างช่วงดอกเบี้ยขึ้น กับช่วงที่ยังไม่ปรับขึ้น ผู้กู้จะต้องจ่ายค่างวดผ่อนชำระในแต่ละเดือนเพิ่มจากเดิม ตัวอย่าง กรณีถ้ากู้ซื้อบ้านวงเงิน 1 ล้านบาท เดิมจะเสียค่าผ่อนชำระเดือนละ 4,217 บาทต่อเดือน แต่ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.25% ค่างวดจะเพิ่มประมาณ 140 บาท หรือเท่ากับจะถูกคำนวณค่างวดเพิ่มเป็นเดือนละ 4,357 บาท แต่ถ้ากู้ซื้อบ้าน 2 ล้านบาท ค่างวดผ่อนเพิ่มขึ้น 280 บาท เป็น 4,497 บาทต่อเดือน แต่ถ้าดอกเบี้ยขึ้นไป 0.50-1.00% ก็ยิ่งจ่ายค่างวดมากกว่านั้น
  • มุมที่สอง ผู้กู้จะขอกู้สินเชื่อได้ยากขึ้น และยิ่งกรณีที่ผู้กู้เอง มีความสามารถในการผ่อนจ่ายหนี้จำกัด ธนาคารจะพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อน้อยลงกว่าเดิม เช่น คนเงินเดือน 25,000 บาท จะมีความสามารถผ่อนบ้านที่ 8,750 บาทต่อเดือน ซึ่งสมัยก่อน ถ้าดอกเบี้ยยังไม่เพิ่มขึ้น หากกู้ 30 ปี จะได้วงเงินมากถึง 2.07 ล้านบาท แต่ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.25% วงเงินที่กู้ได้จะลดลงทันที 65,000 บาท เหลือกู้ได้  2.01 ล้านบาท และถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.50% วงเงินที่กู้ได้จะลดลง 127,000 บาท เหลือได้วงเงินแค่ 1.94 ล้านบาท และลดหลั่นลงไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์อัตราดอกเบี้ย