โดย “อาจารย์มาร์ค” เปิดประเด็นว่า จากผลโพลหลายสำนักระบุว่า คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย นำมาโดยตลอด แต่มาระยะหลังก็จะมีประเด็นว่าระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล มีคะแนนขึ้นลงสวนทางกันบ้าง เพราะมีการแย่งชิงฐานคะแนนเดียวกัน แต่เมื่อพรรคฝ่ายค้านเดิมรวมกันแล้ว มีความได้เปรียบกว่าพรรคร่วมรัฐบาล โดยได้เห็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ผ่านมา ความนิยมของฝ่ายรัฐบาลลดลง แต่ความนิยมของฝ่ายค้านมีมากขึ้น ยิ่งทำให้เห็นว่าความได้เปรียบของซีกรัฐบาลที่เคยมีเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ค่อย ๆ ลดหายลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจกับการสะท้อนความเห็นของประชาชนในขณะนี้

ในพื้นที่ภาคใต้ หลายโพลชี้ว่าพรรคประชาธิปัตย์แพ้พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคภูมิใจไทย สาเหตุเกิดจากอะไร

ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คะแนนของ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถูกแบ่งไปกับพรรคอื่นจำนวนมาก ถ้าพูดตรง ๆ คือ คนส่วนใหญ่อยากสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถต่อกรกับ นายทักษิณ ชินวัตร ได้ ทำให้เสียงของ พรรคประชาธิปัตย์ แตก ดังนั้น การเลือกตั้งในปี 2562 ทำให้หลายพรรคการเมืองที่ร่วมอยู่ในขั้วเดียวกันรู้สึกว่าพื้นที่นี้เปิดแล้ว จึงพยายามโหมเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นปรากฏการณ์ที่เราสัมผัสมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

แสดงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะเหนื่อยมากกว่าทุกครั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ก็รู้ดี แต่ถ้าถามถึงความผูกพันโดยพื้นฐานของประชาชนในภาคใต้กับพรรคการเมือง ผมก็ยังมั่นใจว่า ประชาชนภาคใต้ยังมีความผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ดั้งนั้น ถ้าดูการสะท้อนความเห็น ในเรื่องตัวผู้สมัคร ส.ส.เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในส่วนของพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์มีความนิยมสูงสุดในพื้นที่ภาคใต้ เพียงแต่ถ้าถามในภาคใต้ว่าอยากได้ใครเป็นนายกฯ ก็ยังจะต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์

@ ความสัมพันธ์ของ 3 ป. ที่แยกตัวออกจากกัน มองว่า คะแนนจะไหลไปพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคพลังประชารัฐ

คะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ยังเป็นเสียงที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คือกระแสที่แท้จริงของพรรค คือกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้ามองแบบนี้แสดงว่า คะแนนจะย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ แต่พรรคพลังประชารัฐ ก็ยังมีกลุ่มนักการเมืองที่มีฐานในการสนับสนุนในพื้นที่อยู่พอสมควร เช่น นายสันติ พร้อมพัฒน์ หรือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงได้เปรียบพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เพิ่งมาจัดตั้งพรรคไม่นาน ทำให้การรวมตัวของผู้สมัครต่าง ๆ ไม่แข็งเท่ากับพรรคพลังประชารัฐในหลายเขต

การแยกกันระหว่าง 3 ป. ไม่เป็นผลดีทั้งสองฝ่าย เพราะเราเปลี่ยนระบบเลือกตั้งแล้ว ถ้าเป็นการเลือกตั้งแบบเดียวกับการเลือกตั้งปี 2562 จะไม่เป็นไร เพราะคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าคะแนนถูกแบ่งออกไป จะทำให้พรรคอื่นสามารถแย่งชิง ส.ส.เขตไป จึงเป็นตัวลดคะแนนจากเดิมที่พรรคพลังประชารัฐมีคะแนนเป็นกอบเป็นกำ โดยไม่ใช่แค่หารสอง แต่จะมีอีกส่วนหนึ่งที่หายไปเลย จึงเป็นความเสียเปรียบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง

“สาเหตุที่เกิดขึ้น เป็นเพราะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พยายามสร้างทางเลือกให้กับตัวเอง หมายความว่าไม่ได้แสดงตัวผูกติดกับขั้วการเมืองใด ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลได้ทุกขั้ว เพราะมีฐานเสียงของ ส.ว.อยู่”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีทางเลือกมาก เพราะพรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิมประกาศชัดเจนว่า จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะฉะนั้นเส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะกลับเข้ามาเป็นนายกฯ ได้ก็ต้องรวมกับขั้วเดิม และรวมกับเสียง ส.ว. ซึ่งไม่ง่าย เพราะคะแนนเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ลดลงกว่าปี 2562 และในขั้วเดียวกันเอง คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และพล.อ.ประวิตร อาจเป็นหัวหน้าพรรคที่มีคะแนนเสียงที่มากกว่า และเป็นพรรคที่ใหญ่กว่า พรรครวมไทยสร้างชาติก็ได้ ดังนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติช่วงสุดท้ายต้องโหมทุกอย่างไปที่ พล.อ.ประยุทธ์

 @ มองภาพอนาคตการเมืองหลังการเลือกตั้ง จะเป็นอย่างไร พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

โดยธรรมชาติ พรรคที่ได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่งจะเป็นผู้เริ่มจัดตั้งรัฐบาล ถ้ามีพรรคที่ได้ ส.ส. ได้เกิน250 เสียง หรือรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง จะทำให้เกิดประเด็นว่า ถ้า ส.ว.ไม่อยากให้พรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล ส.ว.ก็ไม่สามารถเลือกคนอื่นมาเป็นรัฐบาลได้ โดยไม่ถูกเค้าล้ม ก็จะเป็นการต่อรองขึ้นมา ซึ่งจะเป็นประเด็นหลักหลังการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มีใครสามารถรวมได้ 250 เสียงเลย ส.ว.จะมีบทบาทในการชี้นำมากขึ้น ความซับซ้อนที่เกิดขึ้น คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากเดิม มีการแบ่งขั้วชัดเจน เป็นขั้วพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน และไปสันนิษฐานกันเองกว่า แต่ละขั้วจะร่วมกันตั้งรัฐบาล

แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นผมจับสัญญาณได้ว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดให้ชัดว่า จะร่วมกับพรรคก้าวไกล และการปฏิเสธว่าจะไม่จับกับพรรคพลังประชารัฐ ยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่ ซึ่งตรงนี้ยังเป็นประเด็นที่สลับซับซ้อนที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การต่อรองการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผมยังมองว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ถ้าพรรคเพื่อไทยยังมีวาระเกี่ยวกับการกลับบ้านของนายทักษิณ ชินวัตร นี่คือความซับซ้อนในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

@ ต้องรอลุ้นว่าเลือกตั้งครั้งนี้จะซ้ำรอยปี 2562 หรือไม่ ที่พรรคเพื่อไทยได้เสียง ส.ส.เยอะที่สุด แต่พรรคพลังประชารัฐรวบรวมเสียงได้มากกว่า และตั้งรัฐบาล ถ้าซ้ำรอยดังกล่าว คิดว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่

ตอบยากว่าจะนำสู่ความขัดแย้งแค่ไหน แต่เป็นห่วงว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ถูกมองว่า สวนทางกับความต้องการของประชาชน ถ้าพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ความขัดแย้งก็จะสูง.