เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่ชั้น G บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เดลินิวส์ X มติชน  จัดเวที “ร่วมวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง 66” ภายหลังเปิดโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ 2 ครั้ง ประสบความสำเร็จ มีผู้ร่วมโหวตเกือบ 200,000 คน ผลออกมาสั่นสะเทือนวงการการเมือง นอกจากนี้ยังจัด 6 เวทีประชันวิสัยทัศน์และนโยบาย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ได้รับผลตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม โดยเวทีครั้งนี้ ระดมนักวิชาการ มาร่วมฉายภาพภูมิทัศน์ทางการเมือง ก่อนและหลังเลือกตั้ง จนกระทั่งประเด็นที่หลายคนจับตา อย่างการจับขั้วของพรรคการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 10.10 น. มีการเสวนา หัวข้อ “สรุป-วิเคราะห์ ผลการจัดทำ เดลินิวส์-มติชน โพล” โดย นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์, นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด มหาชน, ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายดิจิทัลมีเดีย บมจ.มติชน กล่าวว่า ในส่วนผลโพลพบว่า มีจุดที่น่าสนใจแต่ไม่ได้พรีเซ็นต์ออกมา จากจุดแรกที่มติชนกับเดลินิวส์ร่วมมือกัน สิ่งที่เราคาดการณ์คือ ผลลัพธ์จากฐานคนอ่านทั้ง 2 กลุ่ม น่าจะต่างกัน เราอยากให้มีการถ่วงน้ำหนักกัน แต่สิ่งที่เซอร์ไพร้ส์คนทำเหมือนกันคือ ตัวคะแนนและผลลัพธ์ไม่ต่างกัน

“ตัวเลขหลังบ้านรายวัน จะเห็นตัวอันดับสำคัญ ตัวเปอร์เซ็นต์คะแนน หรือระยะห่างของคะแนน มีความสอดคล้องกันหมด เป็นเชิงอรรถที่น่าสนใจ มันเหมือนมีการดับเบิลเช็ก และผลตรงกันจริงๆ ซึ่งแนวโน้มที่ปรากฏในโพลของมติชนและเดลินิวส์ ได้รับการยืนยันจากโพล ซึ่งมีวิธีวิทยาแบบอื่นด้วย” นายปราปต์ กล่าว

นายปราปต์ กล่าวต่อว่า อีกจุดที่ต้องย้ำชัด คือตำแหน่งแห่งที่ (position) ของโพลนี้ เป้าประสงค์ของเราคือ

1. เราเป็นสื่อ และไม่ได้ต้องการจะทำโพลที่เป็นทางการระดับมืออาชีพอย่างสำนักโพล นี่คือจุดยืนที่ชัดเจน แต่สิ่งที่เรากำลังทำ เป้าประสงค์หลักคือการกระตุ้นให้ผู้อ่านและคนดูของทั้งสื่อ 2 สำนักใหญ่ มีความสนใจและอยากมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งครั้งนี้

2. เป้าประสงค์รองที่จะได้ คือเรารับทราบเจตจำนงทางการเมืองของคนอ่านเหล่านั้นด้วย เมื่อช่องเทคโนโลยีในปัจจุบันเปิดให้เราสามารถทำโพลออนไลน์ได้ เท่ากับเราสามารถสื่อสารและรับฟังความเห็นคนอ่านได้ คือจุดที่เราอยากทำ

การขยับขยายวิธีการผลิตคอนเทนต์เลือกตั้งใหม่ๆ คือ เป้าประสงค์หลัก ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็นำมาสู่เครื่องมือวิเคราะห์เลือกตั้งอีกแบบด้วย คือดูจากผลโพลที่ออกมา

นายปราปต์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ดีคือ โพลไม่บอกอะไรเรา หรือตอบเราไม่ชัด แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากโพล หรือการวิเคราะห์เลือกตั้งทั่วๆ ไป

“ตอนนี้เวลาเราพูดเรื่องเลือกตั้ง เราพูดกันเรื่องจำนวน ตัวเลขในโพล คาดการณ์จำนวน ส.ส. ซึ่งแต่ละพรรคจะได้ แต่หนึ่งในรูปธรรมอีกอย่างที่เราเห็นในกระบวนการเลือกตั้ง คือภาพมวลชน ประชาชนจำนวนมากหน้าเวที ซึ่งไม่มีใครไปนับจำนวน หรือเสียงโห่ เสียงเฮต่างๆ เป็นรูปธรรมอีกแบบหนึ่ง

มันคือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก มันมีความรักความศรัทธา ความเกลียด ความแค้น ความหวัง ความผิดหวังเจือปนอยู่ในนั้น ทุกคนน่าจะเข้าใจตรงกันว่าส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้ง ฉะนั้น การมองเลือกตั้ง 2 แบบ ระหว่างการมองไปที่จำนวน กับมองไปที่ตัวคนซึ่งก็เบลอ ตัวอารมณ์ความรู้สึกซึ่งอัดแน่นอยู่ในคนจำนวนมาก และนับจำนวนไม่ได้เหล่านั้น อาจจะนำไปสู่ซีนาริโอ 2 แบบ

แบบแรก เวลาเราวัดจำนวน สุดท้ายแล้วเราจะคาดการณ์ซีนาริโอต่อไปในเชิงเวิร์สเคส คือถ้าเข้ามาเจอ 250 ส.ว. จะเป็นอย่างไร ถ้าเจอยุบพรรค เจอซื้องูเห่า หรือเจอรัฐประหารอีกจะเป็นอย่างไร

แต่ถ้าเรามองเป็นพลังความรู้สึกของประชาชน เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แล้วพอถูกระงับ กดปราบไป อีกระยะก็จะกลับมาเกิดซ้ำอีก ในลักษณะที่อาจจะแรงกว่าเดิม หรือเชี่ยวกรากกว่าเดิม ฉะนั้น ผมยังรู้สึกว่าการเมืองของการเลือกตั้ง มี 2 แง่มุมนี้ ที่อาจจะต้องฝากให้ทุกคนไปคิด แล้วผมก็เข้าใจว่าผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม จะนำไปสู่ซีนาริโอ 2 แบบที่ต่างกันอย่างนี้ อาจจะนำไปสู่การปะทะ หรือคู่ขนานกันทางการเมือง” นายปราปต์ กล่าว