วันนี้ (9 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กรมอุตุนิยมวิทยา  บางนา  นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  เปิดเผยว่า  จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ว่า   “ฝนชุ่มฉ่ำวันเลือกตั้งมาพร้อมกับพายุ 2 ลูกขนาบซ้ายขวา” และ “จะมีพายุหมุนเขตร้อน 2 ลูกก่อตัวในอ่าวเบงกอลและในทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 8-13 พ.ค. 2566” นั้น จากการตรวจสอบ ตรวจสอบสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วง 1 สัปดาห์ข้างหน้า (9-15 พ.ค. 66) ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยตามกระแสข่าว ในเบื้องต้นพบพายุก่อตัวขึ้นในอ่าวเบงกอลเพียง 1 ลูก แต่ไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ส่วนในทะเลจีนใต้ยังไม่ปรากฏว่ามีพายุเกิดขึ้น เป็นเพียงหย่อม ความกดอากาศต่ำเท่านั้น

“หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวเบงกอล มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงวันที่ 9-10 พ.ค. 66 คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นอีกเป็นพายุไซโคลน “โมคา” (MOCHA) ในวันที่ 11 พ.ค. 66 แนวโน้มการเคลื่อนตัวจะขึ้นไปทางเหนือค่อนไปทางตะวันตกเข้าสู่บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางและอ่าวเบงกอลตอนบนในช่วงวันที่ 13-14 พ.ค. 66 แถบประเทศเมียนมาร์ แม้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะส่งผลให้มีฝนต่อเนื่องในประเทศไทยตอนบน โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. 66 บริเวณ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลงมาถึงกาญจนบุรี และ จังหวัดที่ติดกับประเทศเมียนมาร์ นอกจากนั้น คลื่นลมในทะเลอันดามันจะแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร”

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับสภาพอากาศ ในวันที่ 14 พ.. ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งใหญ่ของไทย สภาพอากาศประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องอยู่ในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลทางอ้อมของพายุไซโคลน “โมคา” ซึ่งทำให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยยังมีกำลังแรง โดยจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะด้านตะวันตกของภาคเหนือ ซึ่งมีโอกาสเกิดฝนประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนภาคอื่น ๆ รวมถึง กทม. และปริมณฑล มีโอกาสเกิดฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการออกไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งได้ จึงขอให้ประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิให้พกร่มเพื่อใช้กันแดดและฝนไปด้วย หากต้องรอคิวในการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นลมได้

นายชัยวุฒิ กล่าวถึง สถานการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในปีนี้ว่า สถานการณ์ลานีญา ที่ต่อเนื่องมา 3 ปี ตั้งแต่กลางปี 63 ได้สิ้นสุดลงแล้วในช่วงต้นปีนี้ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์แบบจําลองศูนย์ภูมิอากาศชั้นนำของโลก คาดว่า สภาวะเอลนีโญจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 66 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนธันวาคม 66 ถึง กุมภาพันธ์ 67 ซึงจะส่งผลให้สภาวะอากาศปี 66 ของประเทศไทย มีแนวโน้มที่อุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝน จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ประมาณร้อยละ 5 และจะน้อยกว่าปี 65 ที่ผ่านมาอย่างชัดเจน

ส่วนแนวโน้มสภาวะอากาศปี 67 อุณหภูมิเฉลี่ยจะยังคงสูงกว่าค่าปกติ (ประมาณ 0.5 -1 องศาเซลเซียส) อาจจะใกล้เคียงกับกับปี 59 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเอลนีโญรุนแรง ปริมาณฝนรวมของประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 10 และมีโอกาสสูงที่จะเกิดความแห้งแล้ง