เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงาน “วันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2566” เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” โดยมีองค์กรและหน่วยงาน อาทิ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แทนรัฐบาล สถานทูตต่างประเทศ พรรคการเมือง ผู้บริหาร คณาจารย์และองค์การนักศึกษา เข้าร่วมในพิธีวางพานพุ่มบริเวณอนุสาวรีย์นายปรีดี

นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าวันที่ 11 พ.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรำลึกถึง “ปรีดี พนมยงค์” รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศไทย ที่มีผลงานมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสถาปนา “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2477 และเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ริเริ่มแนวคิดการเรียนการสอนระดับสูงสมัยใหม่ในรูปแบบตลาดวิชาเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงในด้านการศึกษาให้แก่ราษฎร ทำให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิและโอกาสได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยจนจบปริญญา โดยในปี 66 นับเป็นปีที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายประการ เพราะนอกจากจะเป็นวาระครบ 123 ปีชาตกาลของผู้ประศาสน์การ ครบ 40 ปีแห่งการถึงอสัญกรรมแล้ว ยังครบ 50 ปีเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 อีกด้วยทั้งนี้

ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดปาฐกถาทางวิชาการในหัวข้อ “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง โดยนางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ากลุ่มผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองไทย ไม่ได้คิดถึงการสร้างดุลยภาพ หากแต่ต้องการได้ดุลแห่งอำนาจตลอดเวลา แม้กระทั่งการเลือกตั้งที่เป็นช่องทางการแสดงออกเดียวถึงพลังของประชาชน กลับยังไม่ได้รับความเคารพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะหากดูหลังการรัฐประหารเป็นต้นมา ซึ่งเกิดความพยายามสถาปนาอำนาจให้ครอบคลุมระบอบต่างๆ รวมถึงองค์กรอิสระ ที่กลายเป็นกลไกอำนาจเข้ามาจัดการกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทั้งลงโทษ ตัดสิทธิ ยุบพรรคต่างๆ

“หลังการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ผู้มีอำนาจได้พยายามสถาปนาอำนาจตัวเองเพื่อรับมือกับฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกลไกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้ามาร่วมตัดสินใจกฎหมาย เลือกนายกรัฐมนตรี ให้อำนาจกองทัพสนับสนุนตัวเอง อำนาจการลงโทษและควบคุมประชาชน เช่น มาตรา 112, 116 ตลอดจน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งหมดล้วนเข้ามาทำให้ดุลอำนาจของประชาชนสูญเสียไป ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อมีพรรคการเมืองที่เสนอเข้ามารื้อถอน ท้าทายระบอบอำนาจเก่า จึงไม่แปลกที่จะสามารถซื้อใจประชาชน และทำให้เขาตื่นตัวอย่างมากกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง” นางพวงทอง กล่าว

ส่วน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า สำหรับข้อสังเกตถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้นไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่มาจากกลไกการคัดเลือกที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งผลจากการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากคนที่เดินทางไปจำนวนมาก การจ่าหน้าซองผิด เป็นต้น ขณะที่วันเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พ.ค. นี้ กกต. ก็ออกแบบระบบการรายงานผลคะแนนใหม่ที่จะใช้เป็นครั้งแรก

ในการเลือกตั้งปี 62 เรามีประสบการณ์จากทั้งปัญหาการรายงานผลที่ล่าช้า ผิดพลาด ซึ่งยังไม่มีคำอธิบายจนถึงวันนี้ ในครั้งนี้จึงขอเชิญชวนทุกคนออกไปร่วมกันปกป้องคะแนนเสียง ภายใต้สภาวะบ้านเมืองที่เราเห็นว่าไม่ปกติ จะเพียงเดินเข้าคูหา ไปกากบาท แล้วหวังว่าคะแนนเสียงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ อาจมองแง่ดีเกินไป เมื่อ กกต. ไม่ได้เป็นอิสระ และผลการจัดการที่ผ่านมาก็ทำให้เห็นว่ายังไม่ได้ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ฉะนั้นอยากให้ทุกคนช่วยกันออกไปสอดส่อง ร่วมสังเกตการณ์นับคะแนนด้วยตา และถ่ายรูปผลคะแนนส่งมารวมที่ http://vote62.com

ทางด้าน นายพิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังเลือกตั้ง หากการเจรจาไม่ลงตัว ก็อาจมีกระบวนการใช้กฎกติกา บิดเบือน หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีให้อำนาจกับประชาชน ก็อยากให้ทุกคนตระหนักถึงอำนาจที่มี และเลิกความคิดแบบหยวนๆ ปล่อยผ่านให้ผู้มีอำนาจคิดจะทำอะไรก็ได้ แสดงให้เขาเห็นว่าแม้จะมีอำนาจ แต่หากทำอะไรโดยที่ขาดความชอบธรรม เราจะไม่ยอมอีกต่อไป ดังนั้นเราจะก้าวไปข้างหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงได้ หากร่วมกันยืนหยัดและแสดงความเป็นเจ้าของเสียงของเรา ไม่ใช่แค่กาแล้วปล่อยให้ใครคนอื่นมาตัดสินใจ

ขณะที่นายไชยันต์ รัชชกูล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ระบบการเมืองไทยที่มีอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจการบริหารของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะยังมีอำนาจอีกหลายมิติทั้งกว้างและลึก เป็นส่วนภูเขาที่อยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะอำนาจที่ครอบครองอาวุธ คืออำนาจทหาร และอำนาจตามประเพณีเก่าที่มาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเราจะพบว่าหลังสิ้นสุดยุคของคณะราษฎร อำนาจทั้งสองนี้ได้ผนึกเป็นพันธมิตรกันอย่างแน่นแฟ้น และแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง ส.ว. หรือองค์กรอิสระที่มาจากผลพวงของการรัฐประหาร จึงเป็นสิ่งที่อยากย้ำเตือนในผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าแม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะและแต่งตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ยังอาจถูกบั่นทอนจากอำนาจเหล่านี้ได้เช่นกัน

ส่วน น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมและสื่อมวลชนอิสระ กล่าวว่านับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 แม้ประชาชนจะได้รับประชาธิปไตย แต่เกิดการแย่งชิงอำนาจไปตลอดเวลา ถูกจำกัดกรอบกระทั่งรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจไปโดยปริยาย จึงฝากความหวังไว้ได้เพียงกลุ่มบุคคลใดกลุ่มหนึ่งจากการเลือกตั้ง แต่มาในยุคนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ประชาชนเริ่มมองอย่างตรงไปตรงมา สนับสนุนใครจากการวิเคราะห์นโยบาย ความเป็นไปได้ ความชัดเจน ความหวัง และความฝัน ดังนั้นนโยบายที่เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่น รัฐสวัสดิการ ปฏิรูปกองทัพ เป็นต้น จึงได้เสียงตอบรับจากคนส่วนใหญ่ และหากพรรคการเมืองยังเสนอนโยบายไม่ถูกใจ ภาคประชาชนก็สามารถเสนอเองได้ อย่างมาตรา 112 ที่ถูกนำออกมาพูดในพื้นที่สาธารณะได้ ก็เกิดจากการที่ประชาชนส่งเสียงสะท้อนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหานั่นเอง