เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เป็นประธานจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง รวมถึงมาตรการกำกับค่าโดยสารฯ ร่างข้อกำหนดกฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมาตรการส่งเสริมการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนทางราง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนระบบรางได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว 

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า การศึกษาครั้งนี้จะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.พ.67 และจะนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ…. มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอื่นๆ อาทิ รถโดยสาร เครื่องบิน และเรือโดยสาร  มีการกำหนดเพดานค่าโดยสารขั้นสูงกันหมดแล้ว มีเพียงระบบขนส่งทางรางที่ยังไม่มีการกำหนด และไม่มีการควบคุม โดยผลการศึกษาครั้งนี้จะนำไปบังคับใช้กับรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ(วงแหวนกาญจนาภิเษก), รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม), 

รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ, รถไฟฟ้าสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรถไฟฟ้าสายสีแดงต่อขยาย รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยาย ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องการต่อสัมปทานให้กับเอกชน และรถไฟฟ้าสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ซึ่งสายนี้จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อ พรบ.ขนส่งทางรางมีผลบังคับใช้ก่อนการลงนามสัมปทานสายสีส้ม 

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะมีการกำหนดค่าแรกเข้าในอัตราเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถไฟฟ้าแต่ละรายจะเก็บไม่เท่ากันแล้วแต่สัญญาสัมปทาน โดยอยู่ที่ประมาณ 12-17 บาท นอกจากนี้การขึ้นอัตราค่าโดยสารก็ไม่มีกรอบเวลาที่เหมือนกัน ต่างคนต่างขึ้นตามสัมปทานของแต่ละราย อย่างไรก็ตามยังคงยืนยันว่าในอนาคตค่าแรกเข้าของระบบขนส่งทางราง ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ควรต้องเก็บแค่ครั้งเดียว ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มในบัตรเครดิต หรือเดบิต  (Europay Mastercard and Visa : EMV) แล้ว สามารถเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง และสีม่วง ที่สถานีบางซ่อนได้ โดยเก็บค่าแรกเข้าแค่ครั้งเดียว 

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า การคิดค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีหลายรูปแบบ ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองต่างๆ ใช้เรื่องการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นแคมเปญในการหาเสียงมากมาย เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และรถไฟฟ้า 50 บาทตลอดวัน  ซึ่งเป็นการคิดค่าโดยสารรูปแบบราคาเดียว นอกจากนี้บางพรรคยังมีนโยบาย ค่าโดยสารรถเมล์ และรถไฟฟ้า 8-45 บาท เป็นรูปแบบการคิดตามระยะทาง นอกจากนี้ยังมีอีก 1 รูปแบบคือ การเก็บค่าโดยสารเป็นโซน ซึ่งรูปแบบนี้ต่างประเทศดำเนินการแล้ว แต่ไทยยังไม่ได้ทำ

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะใช้การคิดค่าโดยสารในรูปแบบใด โดย ขร. ได้ศึกษาและเตรียมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าโดยสารในรูปแบบต่างๆ ไว้ทั้งหมดแล้ว เพื่อเสนอรัฐบาลในการใช้ประกอบการดำเนินนโยบาย อาทิ จำนวนผู้มีรายได้น้อยที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า, จำนวนผู้ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นประจำ และวงเงินที่จะใช้อุดหนุน เป็นต้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่านโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงไว้นั้นสามารถทำได้จริง แต่ต้องดูรายละเอียดของนโยบายที่หาเสียงไว้อีกครั้งว่าเป็นอย่างไร จะใช้กับทุกคน หรือเฉพาะกลุ่ม และใช้ระยะเวลานานเท่าใด โดยปัจจุบันผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟ และรถไฟฟ้าในวันจันทร์-ศุกร์ อยู่ที่ประมาณวันละ 1.3 ล้านคน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ อยู่ที่ประมาณวันละ 8.9 แสนคน.