โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการขนส่ง ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ ถ้าอยากเห็นโลกใบนี้กลับมาสะอาดปลอดภัยน่าอยู่ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

ที่ผ่านมา หลายประเทศได้ร่วมมือกันตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก สำหรับประเทศไทยในการประชุมคอป 26 รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 รวมทั้งผลักดันแนวคิดเรื่อง “บีซีจี” เป็นเรือธงสร้างเศรษฐกิจสีเขียว

ในส่วนบีโอไอ ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เห็นได้จากยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (ปี 66–70) มีเป้าหมายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม รวมทั้งคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน

“นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ฉายภาพให้เห็นถึงการส่งเสริมการลงทุนสีเขียวของบีโอไอว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์บีโอไอฉบับใหม่ เนื่องจากตระหนักดีว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันและทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ทิศทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด SDG, ESG หรือ Decarbonization อีกทั้งจะมีกติกาการค้าระหว่างประเทศใหม่ ๆ ที่ทยอยออกมาเพื่อบังคับภาคธุรกิจให้ลดการปล่อยคาร์บอนทั้งซัพพลายเชน ถ้าผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน ก็จะสูญเสียความสามารถแข่งขัน

นอกจากนี้ บริษัทชั้นนำระดับโลกได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือบางส่วนเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม RE100 ที่มีเป้าหมายใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในกิจการ 100% หากประเทศไทยต้องการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ จำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การลงทุนสีเขียวที่ชัดเจนและจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทย เป็นแหล่งลงทุนชั้นนำของภูมิภาค และทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลด้วย

ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ฉบับใหม่ บีโอไอได้กำหนดมาตรการและแนวทางในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทุกภาคส่วน ดังนี้

1. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อลดมลพิษ ลดการใช้พลังงาน และใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart and Sustainable Industry ให้สิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งลดกากของเสีย นํ้าเสีย มลพิษในอากาศ หรือเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานหมุนเวียนในกิจการ เช่น การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง เป็นต้น เพื่อการยกระดับไปสู่มาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล เช่น มาตรฐานการรับรองป่าไม้ตามแนวทางขององค์การพิทักษ์ป่าไม้ (FSC และ PEFCs) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน (ISO 14061)

2. ส่งเสริมการลงทุนกิจการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น กิจการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลหรือเส้นใยรีไซเคิล กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะและพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานทางเลือกใหม่ เช่น พลังงานไฮโดรเจน กิจการบริการด้านจัดการพลังงาน (ESCO) กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากเศษวัสดุ ของเสียจากผลผลิตการเกษตร หรือขยะ (RDF) กิจการบำบัดหรือกำจัดของเสีย รวมถึงการส่งเสริมกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเภทต่าง ๆ เพื่อช่วยลดมลพิษในภาคการขนส่ง

3. กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับบางธุรกิจ ให้ใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การกำหนดให้ใช้เทคโนโลยีดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์คาร์บอน ในธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ปิโตรเคมี โรงแยกก๊าซธรรมชาติ การกำหนดให้ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ หรือสารที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยในกิจการห้องเย็น และการกำหนดให้ Smart Environment เป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการส่งเสริมกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ

4. ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีบทบาทในการช่วยยกระดับชุมชนมากขึ้น ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม โดยบีโอไอให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจผู้ประกอบการให้ร่วมมือกับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาภาคเกษตรและระบบนํ้า การสนับสนุนโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรท้องถิ่น การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน การสนับสนุนด้านการศึกษาและสาธารณสุข รวมถึงการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การปลูกข้าวที่ลดการปล่อยก๊าซมีเทน การแปรรูปเศษวัสดุการเกษตรเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 การพัฒนาระบบการคัดแยกขยะในชุมชน เป็นต้น

บีโอไอได้มุ่งสู่ความยั่งยืน ไม่เพียงแต่จะช่วยให้สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นทิศทางที่ภาคธุรกิจ จะต้องปรับตัวเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นปัจจัยสำคัญของประเทศ ในการสร้างจุดยืนบนเวทีโลกอีกด้วย.