เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า ตนจำเป็นต้องแถลงข่าววันนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า เนื่องจากมีการพาดพิงว่า พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมพูดคุยที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง โดยเขียนในภาพข่าวว่า มีการวางแผนที่ 2 โดยให้พรรคก้าวไกล กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปเป็นฝ่ายค้าน และมีพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นฝ่ายรัฐบาล ซึ่งขอยืนยันว่า ทุกคนในพรรคพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีใครไปร่วมกระบวนการคิด การเจรจากับพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น ซึ่งเราให้ยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้น หากมีกระแสข่าวว่าประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการประสานร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองใด ก็ต้องขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากว่า ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการพรรคยังไม่เสร็จสิ้น เพราะการร่วมกับพรรคการเมืองใดจะต้องเป็นมติของพรรค อยู่ระหว่างเตรียมการเลือกหัวหน้า และกรรมการพรรค รอ กกต. ประกาศรับรอง ส.ส. อย่างเป็นทางการ ซึ่งตอนนี้มีรายงานเราได้เพิ่มมา 1 คน รวมเป็น 25 คน เมื่อชัดเจนก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งย้ำผู้สมัครแต่ละพื้นที่มาสรุปและวิเคราะห์การแพ้เลือกตั้งเกิดจากสาเหตุใด ทั้งเรื่องปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง และกระแสจากโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเสนอกรรมการชุดใหม่พิจารณาร่วมกับสมาชิกพรรคต่อไป

“ขอยืนยันว่าเราไม่ไปประสานร่วมคิดร่วมทำให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือร่วมจัดตั้งรัฐบาล เป็นแค่กรณีข่าวที่ออกมาบิดเบือนให้เกิดความเสียหายกับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนแกนนำของพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ที่จะมีการประสานหรือหารืออะไร ก็เรื่องของแกนนำ เราไม่ก้าวล่วงการจัดตั้งรัฐบาล” นายราเมศ กล่าว

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ 2 มีการถกเถียงกันถึงตำแหน่งประธานสภา และพาดพิงการทำงานของนายชวน หลีกภัย ประธานสภา นั้น ขอย้ำว่า การจะกำหนดว่าใครเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภา มีอำนาจหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาด้วย ซึ่งอำนาจหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ ไม่มีหน้าที่ไปช่วยเหลือพรรคการเมืองใดในการผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ หรือนอกเหนือรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับ ที่สำคัญข้อบังคับการประชุมระบุว่าจะต้องวางตัวเป็นกลาง ในการทำหน้าที่

“ส่วนที่อ้างว่าพรรคจะต้องได้ตำแหน่งประธานสภา เพื่อผลักดันร่างกฎหมายและอื่นๆ เป็นเรื่องของพรรคการเมืองของคุณ อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ผลักดันการทำร่างกฎหมายเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา การให้ความเห็นต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ในฐานะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมา ท่านทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตรงไปตรงมา เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ยึดหลักความเป็นกลางในการวินิจฉัยในที่ประชุมในแต่ละครั้ง การกล่าวหาว่าทำไมไม่ร่วมผลักดันกฎหมายบางฉบับนั้น จะร่วมแบบนั้นได้อย่างไร เมื่อร่างกฎหมายนั้นไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการผลักดันร่างกฎหมายอาญา ที่มีการยกเลิกมาตรา 112 การลดโทษความผิดดูเห็นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล แย้งกับบทบัญญัติฐานรัฐธรรมนูญ ขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ” นายราเมศ กล่าวและว่า รวมทั้งข้อกล่าวหาที่บอกว่า นายชวนไม่ผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ที่เสนอโดยภาคประชาชนก็ไม่เป็นความจริง เช่น ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ร่าง พ.ร.บควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านเข้าสู่สภาในสมัยของนายชวน ก็จะเห็นว่าไม่ได้มีการละเลย อีกทั้งนายชวน ยังให้ความใส่ใจเรื่องการทำงานอย่างโปร่งใส ผ่านโครงการบ้านเมืองสุจริต และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงจัดให้มีการรับฟังความเห็นประชาชนในการเสนอกฎหมาย แสดงให้เห็นว่านายชวนไม่ได้ละเลย

นายราเมศ กล่าวต่อว่า เราเป็นห่วงเรื่องของการแก้ไขมาตรา 112 แม้ไม่ได้มีการระบุไว้ใน MOU แต่ร่างดังกล่าวได้เสนอโดยพรรคก้าวไกล เมื่อปี 25 มี.ค. 2564 ซึ่งบทบัญญัตินี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายกฎหมายได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง เพราะเป็นร่างที่เราเป็นห่วงมากที่สุด ดังนั้นแม้จะไม่ได้มีการบรรจุเอาไว้ใน MOU แต่เมื่อเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ก็มีโอกาสที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ได้ เราไม่สามารถไว้วางใจได้ ขอย้ำว่าเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมในการต่อสู้คัดค้านมากที่สุด ไม่เช่นนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จะออกไปอย่างไม่ถูกต้อง

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ยังมีความขัดแย้งเรื่องการแย่งตำแหน่งประธานสภา เรื่องนี้ตนไม่สามารถให้ความเห็นได้ และเชื่อว่าใน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็มีบุคคลที่สามารถทำหน้าที่ได้ดี แต่จะเลือกใครก็เป็นเรื่องของแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่วนการที่นักวิชาการมองว่าน่าจะมีพรรคที่ 3 เข้ามาเป็นประธานสภา นั่นก็ขึ้นอยู่กับแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนตนยืนยันว่าไม่มีการดีลจากพรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้พรรคประชาธิปัตย์ ช่วยโหวตเลือกประธานสภาของพรรคเพื่อไทย ซึ่งการโหวตนั้นต้องเป็นไปตามมติพรรค และขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ระหว่างการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จึงขอยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีการประสาน หรือพูดคุยกับฝ่ายใดทั้งสิ้น.