เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่สำนักงานคณะการการเลือกตั้ว (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้ถ้อยคำต่อ กกต. กรณีการรร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

นายสนธิญา กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ร้องหลัก แต่มายื่นขอให้ กกต.ระบุระยะเวลาในการตรวจสอบเรื่องที่นายพิธา ถูกร้องว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ และได้คำตอบว่าจะทำคดีให้เสร็จหลังรับรอง ส.ส.แล้ว และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตนอยากให้ กกต.ดำเนินการในเรื่องนี้ให้เสร็จก่อนการประกาศรับรองผล เพราะเชื่อว่ากระบวนการตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธา จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ทั้งนี้ อยากจะชี้แจงไปถึงประชาชน นมัสการไปถึงพระพยอม กัลยาโณ ว่าการที่ตนออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดที่มาของ ส.ส.ไว้ในมาตรา 98 รวม 18 วงเล็บ ใครที่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ซึ่งการห้ามถือหุ้นอยู่ใน (3) ไม่ใช่เรื่องกลั่นแกล้ง หรือไม่มีความเมตตาธรรม กรณีของนายพิธา มีปัญหาเรื่องการถือหุ้น และกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าให้ถือได้มากน้อยแค่ไหน แต่ระบุห้ามถือหุ้น จึงอยากจะเรียกร้องไปยังพรรคก้าวไกล และนายพิธา ที่วันนี้ขาดความชอบธรรมที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ กกต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง หากมีการประกาศรับรองครบ 95% เปิดประชุมสภา เลือกประธานสภา และนายกรัฐมนตรี เชื่อว่ากระบวนการนี้จะคู่ขนานกับการที่ กกต.จะส่งเรื่องให้ของนายพิธา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ตนเชื่อว่าถึงเวลานั้นหากนายพิธา เป็นผู้ที่ประชุมรัฐสภามีมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ถามว่าประธานสภาไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองไหนจะกล้าทูลเกล้าฯ ชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือ ถึงเวลานั้นประเทศไทยจะอยู่ในช่องว่างของอำนาจ เพราะข้อเท็จจริงการจะทูลเกล้าฯ ควรต้องอยู่หลังจากศาลธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว

“ไม่ใช่เรื่องของการกลั่นแกล้ง ชอบไม่ชอบ เกลียดไม่เกลียด หรือไม่มีเมตตาธรรม แต่เป็นเพราะคุณพิธา และพรรคก้าวไกล ไม่ดำเนินการจัดการตัวเองให้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจึงไม่มีสิทธิที่จะลงสมัครเป็น ส.ส. เรื่องมีอยู่เท่านี้เป็นการไม่ทำตามบทบัญญัติที่หมายกำหนด”

เมื่อถามว่า มีการมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้บิดเบี้ยวหรือไม่ นายสนธิญา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติของประชาชน 17 ล้านเสียง เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าบิดเบี้ยวก็ไม่รู้ว่าเป็นใครฝ่ายไหนที่คิดเช่นนั้น และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ตั้งแต่ปี 60 รวมระยะเวลา 4 ปีที่พรรคก้าวไกลก็อยู่ในสภา ทำไมไม่แก้ไขเสียตั้งแต่อยู่ในสภา รวมทั้งมองว่ากรณีดังกล่าวจะทำให้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนการตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จสิ้นออกมาชุมนุม แต่อยากให้ทั้งสองฝ่ายมองว่าบ้านเมืองต้องอยู่ด้วยกฎหมาย

ขณะเดียวกัน นายนพรุจ วรชิตวุฒิ อดีตแกนนำพิราบขาว ได้ให้ถ้อยคำต่อ กกต.ในกรณีของนายพิธา เช่นเดียวกัน โดยนายนพรุจ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า นายพิธา หมดสิทธิตั้งแต่ปี 62 เพราะขณะนั้นได้ถือหุ้นไอทีวีแล้ว และต่อมานายพิธาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล จนมาถึงการสมัครเป็น ส.ส. รวมถึงเซ็นรับรองส่งสมาชิกพรรคลงสมัคร แสดงให้เห็นถึงเจตนา ซึ่งถือว่าเสี่ยงที่ถูกจำคุกมาก เพราะถือว่ามีเจตนาที่จะกระทำความผิด ซึ่งทั้งในพิธา และบรรดาผู้สมัครของพรรคจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 คือถามรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังคงลงสมัคร มีโทษ 1-10 ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี

“รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ห้ามผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้น การถือหุ้นแม้แต่หุ้นเดียวก็ซวยแล้ว มีตัวอย่างผู้สมัคร ส.ท. ลงสมัครแต่ถูกตัดสิทธิเพราะถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ทั้งที่เขาไม่ได้มีเจตนาแต่คำว่าเผลอเลอหรือลืมมัน ซึ่งใช้ไม่ได้ในทางกฎหมายดังนั้นพิธาถือหุ้นนี้มานานตั้งแต่ปี 2551 ในทางกฎหมายถือว่าความผิดของนายพิธาสมบูรณ์แล้ว” นายนพรุจ กล่าวและว่า ที่มีการพูดว่าให้นายพิธา ทำงานไปก่อน ส่วนตัวเห็นว่าถ้าเราเอาตามกฎหมายก็ให้ทำงานไปก่อนได้ ถ้ายึดกฎหมายก็ต้องเอากฎหมายมาก่อน หรือการบอกว่าการที่นายพิธา ถูกเล่นงานในเรื่องนี้เพราะกฎหมายบิดเบี้ยว ก็ต้องไปแก้กันในขั้นตอนของสภา แต่ไม่ใช่เอากฎหมู่มาบังคับ